ฟอสฟอรัสอันตรายอย่างไรสำหรับผู้ป่วยโรคไต ฟอสฟอรัส (Phosphorus) เป็นหนึ่งสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นสารอาหารสามารถพบได้ทั่วไปในอาหารต่างๆ รวมไปจนถึงอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง หรือเครื่องดื่ม ที่อาจจะมีการใส่สารฟอสฟอรัสในรูปแบบของสารปรุงแต่งหรือสารกันบูด เพื่อช่วยยืดอายุของอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่เราจะบริโภคฟอสฟอรัสมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ และทำให้เกิดฟอสฟอรัสสะสมอยู่ในเลือด สำหรับคนปกตินั้น การบริโภคฟอสฟอรัสมากเกินไปนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่อันตรายอะไร เพราะไตของเราสามารถช่วยขับฟอสฟอรัสส่วนเกินออกไปจากร่างกายได้ผ่านทางปัสสาวะ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต ที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ในการขับของเสียออกจากร่างกายได้ดีตามปกติ ก็อาจทำให้มีฟอสฟอรัสปริมาณมากสะสมอยู่ในร่างกาย และทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ หากร่างกายของเรามีฟอสฟอรัสมากเกินไป ฟอสฟอรัสนั้นอาจจะไปดึงเอาแคลเซียมที่อยู่ในกระดูกออกมา จนทำให้กระดูกและฟันเปราะบาง และอาจจะแตกหักง่าย แคลเซียมที่ถูกดึงออกมานั้นก็จะอยู่ในกระแสเลือด ทำให้ระดับของแคลเซียมในเลือดมากเกินไป นำไปสู่ภาวะแคลเซียมเป็นพิษ ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ดวงตา หรือหัวใจอีกด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตจึงควรระมัดระวังการบริโภค อาหารฟอสฟอรัสสูง มากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากภาวะฟอสฟอรัสมากเกินไปนั่นเอง อาหารฟอสฟอรัสสูงที่ควรเลี่ยง
โดยเฉลี่ยแล้วคนเรานั้นจะได้รับฟอสฟอรัส 20-30% จากนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมต่างๆ นมนั้นเป็นแหล่งสำคัญของแคลเซียมและฟอสฟอรัส ในนม 1 ถ้วย อาจจะมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากถึง 35% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยพวกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมพร่องมันเนย หรือไม่มีไขมัน มักจะมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมไขมันเต็ม
แม้ว่าโดยปกติแล้ว เราอาจจะรู้กันว่าการรับประทานถั่วนั้นดีต่อสุขภาพ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ แต่การรับประทานถั่วมากๆ อาจจะไม่ดีต่อผู้ป่วยโรคไต เพราะในพืชตระกูลถั่วไม่ว่าจะเป็น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง หรือถั่วลูกไก่ ล้วนแล้วแต่ก็อุดมไปด้วยฟอสฟอรัสทั้งสิ้น เช่น ในถั่ว 1 ถ้วย อาจจะมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากกว่า 250 มิลลิกรัม ขึ้นไป ซึ่งเกือบจะถึงครึ่งของปริมาณฟอสฟอรัสที่ผู้ใหญ่ควรได้รับในแต่ละวัน
เครื่องในต่างๆ เช่น ไส้ ตับ หรือสมอง เป็นอีกแหล่งสำคัญของฟอสฟอรัส และแร่ธาตุสำคัญอื่นๆ เช่น ในตับไก่ 85 กรัม อาจจะให้ฟอสฟอรัสมากกว่า 53% ของปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับในแต่ละวัน ผู้ป่วยโรคไตจึงควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานเครื่องใน ไม่ควรกินมากจนเกินไป
อาหารทะเลส่วนใหญ่นั้นจะเป็นแหล่งสำคัญของฟอสฟอรัส ทั้งปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาหมึก หอยนางรม หรือแม้กระทั่งปู ที่อาจจะมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากถึง 70% ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน แต่จากการรับประทานในหนึ่งมื้อเท่านั้น อาหารทะเลจึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรระวัง
อาหารแปรรูปส่วนใหญ่ มักจะมีการเติมฟอสฟอรัสเข้ามาในรูปแบบของสารปรุงแต่ง หรือสารกันบูด เพื่อช่วยยืดอายุของอาหาร และคงสภาพของอาหารให้คงตัวได้นานขึ้น ซึ่งฟอสฟอรัสที่อยู่ในอาหารแปรรูปนั้นอาจมีปริมาณตั้งแต่ 300-1,000 มิลลิกรัม เกินกว่าปริมาณของฟอสฟอรัสที่ผู้ใหญ่ควรได้รับในแต่ละวัน ซึ่งก็คือไม่เกิน 700 มิลลิกรัม ต่อวัน อาหารเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของอาหารฟอสฟอรัสสูง ที่ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังเมื่อจะต้องเลือกกิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะงดไปเลย เพราะอาหารส่วนใหญ่ ทั้งนม เครื่องใน ถั่ว หรืออาหารทะเลนั้นจะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ที่ดีต่อร่างกายของเรา สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำคือไม่ควรกินอาหารเหล่านี้มากเกินไป และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น และป้องกันอันตรายที่อาจจะมาจากการกินอาหารนั่นเอง |