ทำไมเวลาตักบาตรจะต้่องถอดรองท้าด้วย

ตามธรรมเนียมชาวพุทธไทยปัจจุบันมักถือว่าเวลาใส่บาตรต้องถอดรองเท้า อาจเพราะความคิดเรื่องลำดับสูง-ต่ำ ด้วยว่าพระสงฆ์ที่ออกรับบิณฑบาตนั้น ส่วนมากท่านก็เดินเท้าเปล่า ดังนั้นฆราวาสซึ่งต่ำต้อยกว่า จึงไม่พึงอยู่ “สูง” กว่าท่าน-ด้วยการใส่รองเท้า

กระนั้นก็ยังเห็นบ่อยๆ ว่ามีคนที่ใส่บาตรด้วยวิธีการ “เลี่ยงบาลี” กันทั่วไป คือถอดรองเท้าก็จริง แต่เสร็จแล้วกลับไปยืนบนรองเท้าของตัวเองอีกทีหนึ่ง เนื่องจากรังเกียจพื้นถนนหรือฟุตปาธที่มักสกปรกหรือเปียกเปื้อน ซึ่งก็บอกได้ว่า “ถอดรองเท้าแล้ว” แต่ก็ยัง “สูง” กว่าพระท่านอยู่ดี

ความพยายามหลีกเลี่ยงตำแหน่งที่อยู่สูงกว่า หรือเหนือกว่า สิ่งอันพึงเคารพในพระศาสนา มีให้เห็นตั้งแต่ในตำนานโบราณ เช่นเมื่อพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์หริภุญชัยยุคดึกดำบรรพ์ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระธาตุหริภุญไชย เป็นสถูปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สูง ๓ วา ขึ้นกลางเวียงลำพูน นับแต่นั้นมาจึงมีคติว่าคนในเมืองลำพูนย่อมไม่ปลูกสร้างสิ่งใดที่สูงเกิน ๓ วา ด้วยเกรงจะสูงกว่าองค์พระธาตุ

และตามคติพุทธศาสนานั้น องค์พระธาตุเจดีย์เองย่อมถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันไม่พึงสวมใส่รองเท้าเข้าไป

ดังมีเรื่องครั้งยุคพุทธกาลกล่าวว่าเมื่อพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรู ราชบุตร จับกุมคุมขังไว้ แม้พระองค์มิได้เสวยอาหารเลย ด้วยพระเจ้าอชาตศัตรูหวังให้อดอยากจนสิ้นพระชนม์ แต่พระบิดาก็ยังทรงอิ่มเอิบด้วยปีติที่ได้รับจากการเดินจงกรม เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเช่นนั้นจึงให้นายช่างกัลบก (ช่างตัดผม) เข้าไปใช้มีดโกนกรีดฝ่าพระบาทพระบิดาเสียทั้งสิ้น เพื่อมิให้ออกเดินจงกรมได้อีก

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาอธิบายว่า เหตุที่ทรงถูกกรีดฝ่าพระบาทจนต้องได้รับทุกขเวทนาเป็นสาหัสนี้ ก็ด้วยผลแห่งบุพกรรมในอดีตชาติ ที่พระเจ้าพิมพิสารเคยทรงฉลองพระบาทขึ้นไปบนลานพระเจดีย์

คติทำนองนี้ยังคงถือเคร่งครัดอยู่ในเมืองพม่า ดังที่คนไทยซึ่งไปเที่ยวเมืองพม่ามักบ่นว่า เวลาไปไหว้พระตามวัดต่างๆ ต้องถอดถุงเท้ารองเท้าตั้งแต่นอกกำแพงวัด แม้กระทั่งวัดร้างที่เป็นโบราณสถาน อย่างที่เมืองพุกาม ก็ต้องถอดรองเท้าไว้ข้างนอก แล้วจึงเดินเท้าเปล่า ลุยป่า ฝ่าหนาม เหยียบกรวดหินดินทราย (หรือทางเดินอิฐร้อนระอุเพราะถูกแดดเผามาตลอดวันแล้ว) เพื่อเข้าไปในวัด

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่