ผมผีช่อ เป็นผมที่พันกันเป็นกระจุก ไม่สามารถจะแก้ให้ออกจากกันได้ ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิดและเกิดขึ้นภายหลัง ใครที่เกิดเป็นผมผีช่อ มีความเชื่อกันว่าตัดออกโดยวิธีธรรมดาไม่ได้ เจ้าของผมจะล้มป่วยหรือมีอันเป็นไปต่างๆนานา ต้องไปส่วนที่เป็นผมผีช่อไว้เช่นนั้น ส่วนมากจะเป็นทางด้านหลังเหนือท้ายทอยขึ้นไป เป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เมื่อปล่อยไว้ยาวเกินไป ดูรุงรัง บางคนจงใจไว้เช่นนั้นตลอดชีวิต ก็เย็บเป็นถุงผ้า
จุกผมผีช่อในถุงผ้า ผูกรัดไว้กับส่วนอื่นของผม คนเป็นผมผีช่อ แทงฟันไม่เข้าเป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป คนเป็นผมผีช่อมีไม่มาก ในจำนวนแสนคน จะหาคนเป็นผมผีช่อสักคนแทบไม่ได้ ยังมีความเชื่อต่อไปว่าคุณเป็นผมผีช่อถ้าไม่ตัดออก ทำมาหากินไม่บังเกิดผล เช่น ทำนาจะได้ข้าวน้อย เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องตัดออก
การตัดผมผีช่อมีอยู่ ๒ วิธี
๑. ให้หลวงพ่อที่เป็นที่นับถือของมหาชน เป็นผู้ตัดให้โดยประพรมน้ำมนต์ แล้วหลวงพ่อใช้กรรไกร
ตัดเอง ถ้าเช่าของผมต้องการจะเก็บรักษาไว้เป็นเครื่องรางของขลังก็ได้จะมอบให้หลวงพ่อเก็บไว้เป็นการรักษาขวัญของเจ้าของผมผีช่อก็ได้
๒. ตัดเมื่อมีการรำโนราโรงครู มีความเชื่อกันว่าโนราใหญ่โรงครูเป็นผู้มีเวทย์มนต์ขลัง ก่อนตัดโนราใหญ่ต้องขออนุญาตจากครูหมอโนรา ผู้เข้าตัดผมผีช่อต้องเตรียมดอกไม้ธูปเทียน หมากพลู เงิน ๑๒ บาท จัดเป็นพานพุ่มดอกไม้มอบให้แก่โนราใหญ่ ทางคณะโนราจะเตรียมกรรไกร มีดหมอ เริ่มด้วยนายโรงบริกรรมคาถา ผู้ตัดผมผีช่อ เตรียมผ้าขาวคอยรับผม โนราใหญ่รดน้ำมนต์ลงบนหัวของผู้ต้องการตัดผมผีช่อแล้วรำท่า ๓ ย่าง ตัดผมผีช่อด้วยมีดครูหรือกรรไกร ๓ ครั้ง จากนั้นเก็บผมที่ตัดแล้ว ๓ ครั้งหรือ ๓ หยิบ มอบให้แก่เจ้าของผมเพื่อเก็บรักษาไว้ ผมผีช่อที่ทำพิธีตัดแล้วเมื่องอกขึ้นใหม่ จะไม่ผูกช่อกันเป็นกระจุกอีก |