ในช่วงวันหยุดยาวที่กำลังใกล้เข้ามา หลายคนวางแผนไปเที่ยวป่าเขาสัมผัสกลิ่นไอธรรมชาติ โดยเฉพาะในแหล่งอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวน แต่ก็ต้องย้ำเตือนกันอยู่เสมอว่า ไม่ควรที่จะเก็บของป่าติดไม้ติดมือติดรถกลับบ้านมาด้วย เพราะหากเป็นของป่าหวงห้ามขึ้นมาคุณก็มีสิทธิ์โดนจับติดคุกได้ทีเดียว
สำหรับ ของป่าหวงห้าม มีทั้งหมด 18 ชนิด ห้ามนำออกจากป่าโดยเด็ดขาด ได้แก่
1.กล้วยไม้ป่าทุกชนิด
2.จันทน์แดง จันทร์ผา
3.ชันทุกชนิด
4.ชิ้นไม้กฤษณา และกฤษณา
5.ชิ้นไม้จันทน์หอม
6.ฝาง ง้าย
7.ถ่านไม้ทุกชนิด
8.น้ำมันยาง
9.ใบลาน
10.เปลือกไม้ และของไม้ (ประกอบด้วย ก่อ มะก่อ กอ ค้อ, กัดลิ้น ขี้อาย มะเฟืองป่า แก้วสาร ลําไยป่า พญาไก่เถื่อน, ตะเคียนทอง ตะเคียนใหญ่ เคียน แคน, เคี่ยม, บง ยางบง หมี่ ไก๋, หมีเหม็น อีเหม็น, พะยอม ยอม ขะยอม พะยอมดง, มะหาด หาด หาดหนุน หาดส้าน, สีเสียดเปลือก ทองสุก หนามหิน เลือดนก, อบเชย เทพาโร จวง จวงหอม การบูรต้น ข่าต้น ตะไคร้ต้น พลูต้น สมุลแว้ง ฮางแกง ฮังไก๊ เชียด กะเชียด กะดารา มหาปราบ)
11.เฟิร์นกระเช้าสีดา ชายผ้าสีดา และห่อข้าวสีดา
12.ยางขนุนนก
13.ยางเยลูตง
14.ยางรัก
15.ยางสน
16.รากเฟิร์นออสมันดา
17.ลําต้นและรากเฟิร์นต้น
และ 18.หวายทุกชนิด
หากประสงค์จะนำออกจากป่า ต้องขออนุญาตโดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
1.ผู้ขออนุญาต ยื่นคำขอพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งอำเภอหรือกึ่งอำเภอท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่ ตรวจสอบเอกสาร/รับเรื่องลงทะเบียนรับคำขอ 5 วันทำการ หลังจากเอกสารครบถ้วน
2.พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอ ให้ตรวจสอบบริเวณที่ขออนุญาต ชนิดของป่า จำนวน สภาพป่า ได้มีการอนุญาตเก็บหาของป่าหวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้หรือไม่ หากอนุญาตแล้วจะเป็นผลดีหรือผลเสียแก่สภาพป่าเพียงใด ได้เคยอนุญาตให้แก่ผู้ใดมาแล้วบ้างแล้วรวบรวมส่งจังหวัดพิจารณา ระยะเวลา 15 วันทำการ
3.เมื่อจังหวัดได้รับรายงานแล้ว ให้จังหวัดทำความเห็นประกอบและส่งเรื่องให้ ทสจ.ท้องที่ป่านั้น และกรมป่าไม้ โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้พิจารณาเพื่อสำรวจหากำลังผลิตของป่านั้น โดยวิธีประมาณการ แล้วแจ้งให้จังหวัดทราบ เพื่อพิจารณาอนุญาตให้เก็บหาของป่าได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมไม่เกินกำลังผลิตที่สำรวจได้ ระยะเวลา 30 วันทำการ
4.เมื่อได้ดำเนินการหากำลังผลิตแล้ว จังหวัดท้องที่รายงานผลการตรวจสอบและพิจารณาเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่ออนุญาตให้เก็บหาของป่า ระยะเวลา 15 วันทำการ
5.เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกใบอนุญาตแล้ว ให้รายงานให้กรมป่าไม้ทราบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต
รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 95 วันทำการ
|