วัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อที่พบว่าเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตในคนทั่วโลก วัณโรคเกิดจากเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดวัณโรคปอด แต่ยังส่งผลให้เกิดวัณโรคกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อ ลำไส้ เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น โชคดีที่ว่าวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว
เชื้อวัณโรคติดต่อได้ผ่านการหายใจ ไอ จาม
เชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจรับเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในอากาศ ขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม บ้วนน้ำลาย หรือขากเสมหะ เชื้อวัณโรคจะกระทบไปในอากาศหรือกระจายอยู่ตามวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ดังนั้น สมาชิกในครอบครัว ผู้ร่วมอาศัย รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเอดส์ ควรระมัดระวัง และรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองวัณโรคว่าได้รับเชื้อหรือมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
อาการของผู้ป่วยวัณโรค มีอะไรบ้าง
อาการวัณโรคแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยในระยะแรกจะสังเกตได้ยากเพราะอาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปีกว่าจะแสดงอาการให้เห็น
ระยะแฝง (Latent TB) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะยังไม่แสดงอาการใดๆ โดยเชื้อจะซ่อนอยู่ภายในร่างกาย จนกว่าร่างกายจะอ่อนแอ จะก่อให้เกิดอาการที่ชัดเจนได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีการตรวจพบในช่วงระยะแฝง แพทย์จะรักษาโดยการควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่โรคจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ
ระยะแสดงอาการ (Active TB) ระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนทำให้แสดงอาการต่างๆ ได้ชัดเจน เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด หรือเบื่ออาหาร
กินยาให้ครบ… “วัณโรค” ก็หายได้
เป้าหมายสำคัญในการรักษาวัณโรค คือ การรักษาให้หายขาดเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อและเพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค แม้ว่าวัณโรคจะสามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำได้ หากผู้ป่วยไม่มีวินัยในการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
การรักษาผู้ป่วยวัณโรค 2 เดือนแรก แพทย์จะให้รับประทานยา 4 ชนิด คือ Isoniazid, Rifampicin, Pyrazinamide และ Ethambutol หากผู้ป่วยดื้อยาอาจจำเป็นต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อรักษาครบ 2 เดือน แพทย์จะตรวจเสมหะหรือเอกซเรย์ปอดซ้ำ หากมีการตอบสนองที่ดีแพทย์จะลดยาให้เหลือเพียง 2 ชนิด และยังต้องให้การรักษาต่อไปอีก 4 เดือน
รักษาวัณโรคล่าช้าหรือไม่ต่อเนื่อง…อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคมักเกิดขึ้นจากการรักษาที่ล่าช้า หรือการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง โดยมีทั้งอาการที่ไม่รุนแรง หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตเมื่อเชื้อวัณโรคกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น มีฝีในปอด ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด ปวดหลัง ข้อต่อกระดูกอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปัญหาเกี่ยวกับตับและไต และหัวใจ เป็นต้น
ผู้ป่วยวัณโรคควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ข้อควรปฏิบัติในผู้ป่วยวัณโรค
วัณโรคป้องกันได้ ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน
ที่มา : https://www.phyathai.com |