รวมเช็คลิสต์ 10 จุดสำคัญที่ต้องตรวจเช็คให้ดีก่อนเซ็นต์รับคอนโด

หากมองเผิน ๆ สภาพทุกอย่างในห้องอาจดูปกติ แต่จริง ๆ แล้วอาจจะมีจุดผิดปกติซ่อนอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาวหลังย้ายไปเข้าไปอยู่ เจ้าของคอนโดก็ควรตรวจให้ดีก่อนเซ็นโอนห้อง หากไม่รู้ว่าต้องตรวจยังไงบ้าง ลองเอาเช็คลิสต์นี้ไปเช็คได้เลย
 
 
 
 
1. พื้นลามิเนต
 
วัสดุพื้นลามิเนตมีส่วนผสมของเศษไม้อยู่ด้านใน และปิดผิวด้วย Laminate ที่มีความมันวาว ทำให้ทนต่อการสัมผัสน้ำได้ ทั้งนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าในขั้นตอนการเตรียมพื้นก่อนปูนั้น จะต้องปรับพื้นให้เรียบก่อน แล้วปูด้วยโฟมรองพื้นก่อนปูด้วยพื้นลามิเนต
 
ให้เดินไป-มาให้ทั่วห้อง แล้วคอยสังเกตว่ามีบริเวณใดเป็นหลุมหรือยวบ หากมีก็แสดงว่าเกิดจากการปรับพื้นไม่เรียบนั่นเอง ข้อแนะนำคือ ให้เดินด้วยเท้าเปล่า และเดินแบบลากเท้า ก็จะทำให้สัมผัสถึงความเรียบ ได้ระดับของพื้นที่ปูใต้ลามิเนตได้ และให้ช่างแก้ไขบริเวณที่รู้สึกว่าเป็นหลุม ไม่เรียบ โดยหลุมดังกล่าวต้องมีขนาดลึกพอสมควร
ถ้าไม่แน่ใจว่าได้ระนาบไหม ให้นำลูกแก้วโยนลงไปบนพื้นให้ทั่วบริเวณ ถ้าลูกแก้วกระจายตัวไปทั่วพื้นห้อง ไม่กระจุกเป็นแอ่ง ก็แสดงว่าพื้นห้องได้ระนาบแล้วนั่นเอง
ตรวจสอบพื้นลามิเนตว่ามีรอยบิ่นหรือแตกที่ไม้ลามิเนตหรือไม่ หากมีก็สามารถแจ้งให้ทางโครงการเปลี่ยนได้ 
ตรวจสอบพื้นลามิเนตว่า มีการโก่ง งอ หรือขึ้นสันไหม โดยนำไม้บรรทัดมาวางที่รอยต่อของพื้นลามิเนต ถ้าขึ้นสันไม้บรรทัดจะไม่แนบกับพื้น 
ตรวจสอบรอยต่อการปูแผ่นลามิเนตว่า แนบสนิทกันดีไหม โดยให้ลองเอามือไปลูบดู จะต้องเสมอกัน ไม่กระเดิด 
ตรวจสอบการยวบของพื้นลามิเนตที่ริมห้องด้วยการเหยียบ เพราะเป็นตำแหน่งที่จะเจอบ่อยที่สุด และสังเกตได้ง่ายว่ามีการยวบหรือไม่ เนื่องจากเป็นบริเวณขอบของพื้นลามิเนตนั่นเอง
 
 
2. บัวเชิงผนัง
 
ตรวจสอบดูการติดตั้งบังเชิงผนังว่า ติดตั้งได้แนบกับผนังไหม ติดแน่นดีไหม ทั้งนี้ถ้าไม่สามารถติดตั้งบัวให้แนบกับผนังได้ ก็อาจมีสาเหตุมาจากผนังไม่เรียบ ไม่ได้ระนาบ หรืออาจเป็นจากบัวไม้โก่ง (กรณีที่บัวเป็นไม้จริง ซึ่งตามปกติดโครงการคอนโดมักจะไม่ใช้กันแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นบัวพีวีซี (PVC) หรือไม้เฌอร่ากันมากกว่า)
กรณีมีการทาสี ก็ให้ดูความเรียบเนียนของสีว่า สวยงามดีไหม มีสีหยอดไหม ซึ่งจุดนี้แก้ไขได้ไม่ยาก
ตรวจสอบการเข้ามุมเนียนบัวเชิงผนังว่า เข้ามุมได้แนบสนิทกันดีไหม ปกติแล้วควรจะเป็นมุม 45 องศา 
กรณีเป็นบัวสำเร็จรูป ให้ลูบบริเวณที่มุม บางครั้งจะมีความคมมาก เนื่องจากเข้ามุมแบบ 45 องศา โดยสามารถแก้ไขด้วยการให้ทางโครงการนำกระดาษทรายมาลูบ เพื่อลบคมออก
 
 
3. ผนังห้อง
 
 
กรณีติดวอลเปเปอร์ก็ให้ดูว่ามีรอยฉีกขาด รอยต่อแผ่นวอลเปเอร์สนิทไหม วอลเปเปอร์ติดแน่นดีหรือว่ามีการหลุดร่อนหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบคราบเลอะและดูการเข้ามุมผนังห้องด้วยว่าเรียบเนียนไหม 
หากมีวอลเปเปอร์ฉีกขาดสามารถเปลี่ยนได้ โดยจะต้องเปลี่ยนทั้งแผ่น แต่ถ้าวอลเปเปอร์ดังกล่าวติดตั้งมานานแล้ว การเปลี่ยนอาจต้องเปลี่ยนแผ่นข้าง ๆ กันด้วย เพื่อป้องกันสีของวอลเปเปอร์ใหม่และเก่าแตกต่างกัน จากระยะเวลาที่ติดตั้งมานาน สีของวอลเปเปอร์จะซีดจางลง
กรณีเป็นการทาสีให้ดูว่าทาสีเรียบเนียนไหม การทาสีควรทาให้ครบ 2-3 รอบ โดยทิ้งระยะทางเวลาให้สีรอบก่อนหน้าแห้งสนิทก่อนจึงสามารถทารอบต่อไปได้ 
ตรวจสอบผนังว่าเรียบเนีบนไหม บางครั้งอาจจะมีจุดที่ผนังปูด-นูน เพราะฉาบไม่เรียบ มีขี้ปูนตามผนังหรือก่อผนังไม่ได้ระนาบ
 
 
4. ประตูห้อง
 
ประตูห้องปกติเป็นไม้สำเร็จรูป ให้ลองเปิด-ปิดไปมา จะต้องไม่ติดขัด และถ้าเปิดค้างประตูจะต้องไม่ปิดเอง (ถ้าไม่มีโช้คที่ด้านบนประตูมาช่วยปิดประตู)
ตรวจสอบการทาสีเรียบเนียนไหม
เอากระจกส่งที่สันบานประตูด้านบนต้องทาสีด้วย เพื่อความสวยงาม 
กรณีเป็นประตูห้องน้ำ ควรทาสีสันบานประตูทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อป้องกันประตูบวมจากความชื้นในห้องน้ำ 
สำหรับลูกบิดประตูให้ลองหมุนไป-มา และตรวจสอบว่าติดตั้งแน่นดีไหม 
ให้ลองล็อกกลอนประตูดูว่า สอดเข้ารูได้เรียบร้อยดีไหม
 
 
 
 
5. ประตูเลื่อน หน้าต่าง และอะลูมิเนียม
 
ลองเปิด-ปิดดูว่าติดขัดไหม 
ดูรอยต่อต่าง ๆ ว่า อัดซิลิโคนยาแนวเรียบร้อยดีหรือไม่
ตรวจสอบช่องระบายน้ำจากกรอบอะลูมิเนียม และตรวจสอบน้ำขังในรางเลื่อน
 
 
6. งานระบบไฟฟ้า ทีวี และโทรศัพท์
 
ให้ไปซื้อเครื่องตรวจสอบไฟของการไฟฟ้านครหลวง (Easy Check) ราคา 200 บาท มาตรวจสอบเต้ารับไฟฟ้า 
ส่วนช่องสัญญาณโทรศัพท์ ก็นำโทรศัพท์จริงไปลองเลยก็ได้ หรือให้ทางโครงการเอาอุปกรณ์ตรวจสอบของช่างมาช่วยเช็กให้
ส่วนทีวีให้ทางโครงการเอาอุปกรณ์ตรวจสอบของช่างมาตรวจสอบให้ดู โดยปกติจะมีทีวีขนาดเล็กมาทดสอบสัญญาณให้ดู
ช่องสัญญาณ Network ให้ช่างโครงการนำอุปกรณ์ทดสอบสัญญาณมาทดสอบให้ดู 
ดูบนฝ้าดูความเรียบร้อยการเดินสายไฟฟ้า เช่น มีการร้อยท่อไหม มีการปิดกล่องไฟเรียบร้อยดีไหม
 
 
7. ตรวจสอบงานระเบียงห้อง
 
ให้เทน้ำที่ระเบียงดูว่ามีน้ำขังที่พื้นกระเบื้องหรือไม่ หามีอาจจะมาจากการปรับความลาดชัน (Slope) ของกระเบื้องผิด 
ให้เคาะกระเบื้องดูทั้งหมดว่า มีจุดที่หลุดร่อนหรือเป็นโพรงไหม โดยจุดที่ผิดปกติเสียงจะดังก้อง ๆ ทั้งนี้ให้เทียบกับแผ่นกระเบื้องใกล้ ๆ กันที่ติดแน่นซึ่งจะมีเสียงทึบ จะง่ายที่สุด
 
    
8. ฝ้า-เพดาน
 
ตรวจสอบแผ่นฝ้าเพดาน รอยต่อแผ่นวัสดุ รอยแตกร้าว รอยคราบน้ำ รวมถึงการทาสีฝ้าว่าทาสีสม่ำเสมอหรือไม่ นอกจากนี้จะต้องไม่มีรู ขอบชายฝ้าต้องไม่เลื้อยหรือตกท้องช้าง
 
9. ห้องน้ำและสุขภัณฑ์
 
การติดตั้งสุขภัณฑ์ต้องเก็บยาแนวรอบสุขภัณฑ์ให้เรียบร้อย และท่อต่าง ๆ จะต้องไม่มีจุดรั่วซึม ใช้งานได้ดี 
ระดับลาดเอียงของพื้นกระเบื้องจะต้องเทลาดไปทางท่อระบายน้ำทิ้ง จะต้องไม่มีน้ำขังเป็นแอ่งหรือขังบริเวณมุมกระเบื้อง 
ภายในรูระบายน้ำทิ้งไม่มีเศษปูนหรือขยะ รวมถึงรอยแตกร้าวและรอยขูดขีดของสุขภัณฑ์ รอยรั่วซึมของท่อน้ำดีและท่อน้ำทิ้ง แรงดันน้ำในท่อ 
 
 
10. ห้องครัว
 
ตรวจระบบน้ำดีและน้ำทิ้งของซิงค์ล้างจาน จะต้องไม่มีน้ำรั่วซึมใต้ซิงค์ 
อุปกรณ์ฮูดดูดควันและพันลมระบายอากาศทำงานปกติ
ตรวจเช็กความเรียบร้อยของตู้ลอย และบานเปิด-ปิด ระยะบาย และบานตก
 
 
คราวนี้หากใครกำลังจะซื้อคอนโดใหม่ แต่ยังไม่รู้ว่าต้องตรวจจุดไหนบ้าง และมีวิธีการตรวขรับคอนโดเองอย่างไร ก็ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้กันได้ จะได้ไม่มีปัญหากวนใจตามมาหลังโอนห้อง

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่