“ถ้าเรากระทำความดีตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ แต่ถ้ากระทำความชั่วจะต้องตกนรก” แนวคิดเรื่อง สวรรค์ และ นรก เป็นหนึ่งแนวคิดความเชื่ออันคุ้นเคยที่ถูกแฝงในพุทธศาสนา เพื่อสั่งสอนและตักเตือนไม่ให้บุคคลประพฤติผิดจากศีลและผิดจากหลักธรรมคำสอน
พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของ สวรรค์ ไว้ว่า โลกของเทวดา, เมืองฟ้า อาจหมายความว่า “สวรรค์” อยู่บนฟ้าและเป็นที่พำนักของเทวดา ซึ่งหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง ก็ได้อธิบายว่า สวรรค์มีอยู่หกชั้น ทั้งหมดนี้เรียกว่า “ฉกามาพจร”
ฉกามาพจร ทั้ง 6 ชั้น มีชื่อดังนี้
ชั้นที่ 1 จาตุมหาราชิกา มีท้าวจตุโลกบาลดูแลรักษาโลกทั้งสี่ทิศ
ชั้นที่ 2 ดาวดึงส์ (หรือ ไตรดรึงษ์) เป็นที่อยู่ของพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย
ชั้นที่ 3 ยามา อยู่สูงกว่าวิถีโคจรของพระอาทิตย์ มีแต่เวลาหรือยามดีตลอดไปไม่มีค่ำ
ชั้นที่ 4 ดุสิต เป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ผู้สร้างสมภารอันจะลงมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้า
ชั้นที่ 5 นิมมานรดี เหล่าเทวดาในชั้นนี้ถ้าปรารถนาสิ่งใดก็เนรมิตได้เองดังใจ ไม่ต้องให้มีใครถวาย
ชั้นที่ 6 ปรนิมมิตวสวัตดี เป็นที่อยู่ของเทวดาและมารด้วย สามารถจะเนรมิตสิ่งที่ปรารถนาเองหรือจะให้ผู้อื่นเนรมิตแทนก็ได้
“ฉกามาพจร” ใน ไตรภูมิพระร่วง มีการเกิดและดับได้อยู่เช่นเดียวกับโลกมนุษย์ “เทวดา” ที่อยู่บนสวรรค์เมื่อสิ้นบุญแล้วก็ต้องจุติไปเกิดตามกรรมของตน ตามพระพุทธวัจนะที่เรื่องกามนิตได้อ้างไว้ ดังนี้
มีเกิดก็มีตาย ถึงแก่ความทำลายไปจนสิ้น
เหมือนกับสวนในโลกและดอกฟ้าในสวรรค์ย่อมร่วงโรยไป
จงรู้ไว้เถิดว่า ความเป็นไปในอนาคตนั้นแล ย่อมดับเสียจนกระทั่งรัศมีมหาพรหม
สวรรค์ชั้นดุสิต (ภาพจาก “สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6” ใน สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)
พุทธวัจนะข้างต้นแสดงให้เห็นว่า “สวรรค์” ทางพุทธศาสนาไม่ใช่สถานที่ซึ่งเมื่อขึ้นไปแล้วก็อยู่เป็นนิรันดร์ ไม่ต้องตายอีก เหมือนดังความเชื่อของฝรั่งหรือของแขก โดยการที่หมู่เทวดาทั้งหลายจะสิ้นอายุจากสวรรค์ได้นั้น มีสาเหตุอยู่ 4 ประการ คือ
ประการแรก อายุขัย ถ้า “เทวดา” หมู่ใดๆ กระทำบุญมาแต่ปางก่อนมา เมื่อสิ้นอายุในชั้นสวรรค์ของตน เช่น จุติในชั้นดุสิตจะมีอายุได้ถึง 4,000 ปีทิพย์ เมื่อหมดอายุแล้วต้องไปเกิดใหม่ในสวรรค์ชั้นเดิมหรือชั้นอื่นก็ตาม
ประการที่สอง บุญขัย เทวดาหมู่ใดกระทำบุญแต่ปางก่อนมา แม้อายุยังไม่ถึงกำหนดตามอายุขัยเทวดาในสวรรค์ชั้นนั้น แต่หมดบุญก่อนก็จะจุติจากสวรรค์นั้นไปเกิดที่แห่งอื่น
ประการที่สาม อาหารขัย เทวดาบางจำพวกเพลิดเพลินกับการเล่นสนุกกับเหล่านางฟ้าอัปสรจนลืมกินอาหาร จึงสิ้นชีวิต แม้จะลืมกินเพียงมื้อเดียวและกินทดแทนภายหลังอีกร้อยครั้งก็ไม่อาจคืนชีวิตได้ เพราะเนื้อเทวดามีความอ่อนราวดอกบัว การอดอาหารเปรียบเสมือนการนำดอกบัวไปตากไว้กับแผ่นหินอันถูกแดดร้อน แม้จะนำมาแช่น้ำเท่าใด ดอกบัวก็ไม่อาจกลับมาสดชื่นดังเดิม เทวดาเองไม่อาจคงชีวิตไว้เช่นกันถ้าขาดอาหาร
ประการสุดท้าย โกธาพลขัย เทวดาบางพวกอาจมีใจริษยาหรือโกรธกัน จึงทะเลาะกัน ถ้ามีเทวดาองค์ใดระงับความโกรธได้ทั้งสองก็จะไม่ต้องไปจุติ แต่ถ้าเกิดวิวาทกัน หัวใจของเทวดาทั้งสองก็จะกลายเป็นไฟเผาไหม้กายและสิ้นชีวิตลง
โดยก่อนจุติเจ็ดวัน เทวดาผู้มีบุญจะเห็นนิมิต 5 ประการเป็นสัญญาณของการสิ้นบุญในสวรรค์ คือ
1. ดอกไม้ในวิมานตนเหี่ยวแห้งไม่มีกลิ่นหอม
2. ผ้าที่สวมใส่ประดับอยู่ดูมีความหม่นหมองลงไป
3. ไม่มีความสุข มีเหงื่อไคลไหลออกจากรักแร้
4. อาสน์ที่นั่งและนอนมีความร้อนและแข็งกระด้าง
5. กายของตนเหี่ยวแห้ง มีความเศร้าหมอง ดูไม่มีรัศมีดังแต่ก่อน เหน็ดเหนื่อยเมื่อยไปทุกส่วน
ส่วนเทวดาองค์อื่นๆ ที่มีบุญน้อยจะไม่เห็นนิมิตเหล่านี้ หลังจากเทวดาผู้มีบุญเห็นนิมิตทั้งห้านี้แล้ว เทพเทวดาองค์อื่นๆ อันเป็นที่รัก รวมทั้งนางฟ้าและบริวารทั้งหลายจะมาเยี่ยมเยียนและร่วมทุกข์โทมนัสด้วยกัน และชักชวนกันไปเล่นสระและสวนที่สนุกเพื่อให้เทวดาผู้ต้องจุติคลายทุกข์ นางฟ้าผู้เป็นบริวารก็จะร้องไห้อ้อนวอนให้เทวดามาเกิดใหม่ในวิมานเดิม แต่จะไปเกิดที่ใดนั้น ก็คงต้องตามแต่บาปและบุญของเทวดาองค์นั้นที่กระทำมาแต่ปางก่อนนั่นเอง |