กระจ่างใจแล้วเพราะปรากฏการณ์นี้เอง Returning trip effect ขากลับจึงเร็วกว่าขาไป

เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเวลาขับรถไปต่างจังหวัด เรามักจะรู้สึกว่าขาไปใช้เวลายาวนานกว่าขากลับเสมอ ทั้งๆ ที่ระยะทางของทั้งสองขาก็แทบไม่แตกต่างกัน
 
 
สาเหตุเกิดจาก "จิต" ของมนุษย์เอง
 
ธรรมดามนุษย์เรามีการรับรู้เกี่ยวกับเวลาได้ไม่ค่อยดีนัก ไม่ว่าจะเป็นหลักวินาที หรือยาวนานนับชั่วโมงก็ตาม บางวันเรารู้สึกว่าเวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน แต่พออีกวันกลับรู้สึกว่าเวลาช่างผ่านไปเชื่องช้า ทั้งๆ ที่แต่ละวันต่างก็มี 24 ชั่วโมงเท่ากัน สิ่งเหล่านี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามากระทบต่อตัวเรา เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว, อารมณ์ในแต่ละช่วงขณะ หรือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เป็นต้น
 
เช่นเดียวกับความรู้สึกว่าทำไมการเดินทางขับรถขาไป จึงรู้สึกยาวนานกว่าขากลับเสมอ ปรากฏการณ์ที่ว่านี้เรียกกันว่า "Returning trip effect" เมื่อคุณเดินทางไปยังจุดหมายที่ไม่คุ้นเคยแล้วเดินทางกลับ มักจะดูเหมือนว่าขากลับใช้เวลาน้อยกว่าเดินทางขาไป แม้ว่าจะเดินทางด้วยระยะทางเท่ากันก็ตาม
 
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นสามารถตอบตามหลักจิตวิทยาได้หลายรูปแบบ โดยคำอธิบายหนึ่ง คือ "การใส่ใจกับเวลา" เมื่อคุณใส่ใจกับเวลาที่ผ่านไป จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนกับใช้เวลานานขึ้น การที่คุณเดินทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น กระตือรือร้นที่จะไปถึงจุดหมายโดยเร็ว จึงรู้สึกเหมือนกับว่าเวลาผ่านไปเชื่องช้า ผิดกับการขับรถกลับบ้านที่คุณแทบไม่เหลือความตื่นเต้นอะไรแล้ว คุณจึงให้ความสนใจกับเวลาลดน้อยลง ทำให้รู้สึกว่าขากลับเร็วกว่าขาไปนั่นเอง
 
อีกสาเหตุหนึ่งคือความคาดหวังของผู้คนสำหรับการเดินทางกลับจะต่ำกว่า เมื่อเรามุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทาง เรามักจะคาดหวังที่จะได้สัมผัสอะไรบางอย่างที่นั่น การคาดหวังนี้อาจทำให้การเดินทางดูยาวนานขึ้น ในทางกลับกัน เราได้มีประสบการณ์จุดหมายปลายทางแล้วในการเดินทางไปกลับ ดังนั้นเราจึงคาดหวังต่ำลงและการเดินทางจึงดูสั้นลง

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่