แนะนำขั้นตอนและวิธีการเอาตัวรอดหากต้องติดในเหตุเพลิงไหม้

หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในบ้าน คอนโด หรือสำนักงาน อาคารสูง ควรมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดว่าถึงเวลาควรอพยพออกมาจากที่เกิดเหตุอย่างไร ก้มต่ำเมื่อเจอควัน หยุดใช้ลิฟท์ เดินออกทางหนีไฟ และอพยพออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด
 
 
หากเราเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์ ไฟไหม้ คนแรกๆ ควรรีบตัดสินใจว่าสามารถดับเพลิง ได้ด้วยตนเองหรือไม่ หากเห็นว่าสามารถดับเพลิงได้ให้ทำการดับเพลิง หากไม่สามารถดับเพลิงได้ให้ร้องขอความช่วยเหลือ หรือโทรแจ้งเหตุไฟไหม้-ดับเพลิง เบอร์ 199 หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ติดต่อ เจ็บป่วยฉุกเฉิน (ทั่วไทย) 1669
 
วิธีเอาตัวรอด เมื่อไฟไหม้
 
  • เมื่อพบเพลิงไหม้ในห้องใดห้องหนึ่ง หากเป็นเพลิงไหม้ขนาดเล็ก สังเกตว่าเป็นไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้า น้ำมัน หรือไฟจากเทียนไข ไฟแช็ค บุหรี่ ถังแก๊ส ฯลฯ หากแน่ใจว่าไม่ได้มาจากไฟฟ้า และน้ำมัน สามารถใช้น้ำดับไฟได้ หากไม่แน่ใจควรใช้ผ้าห่มผืนหนักๆ ใหญ่ๆ คลุมทับไฟให้ดับ หากมีถังดับเพลิงให้รีบหยิบมาใช้ โดยดึงสลักตรงที่จับด้านบนออก แล้วชี้ปลายสายดับเพลิงไปที่ฐานกองไฟ ให้ตัวเราห่างจากกองไฟ 2-4 เมตร ฉีดจนกว่าไฟจะดับ
  • หากเป็นไฟไหม้พร้อมกองเพลิงขนาดใหญ่ เริ่มมีควันมากขึ้น ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้เอง และไม่มีสิ่งใดช่วยดับไฟได้ ควรรีบออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็ว ปิดประตูหน้าต่างในห้องที่เกิดเหตุให้สนิท จะช่วยชะลอไฟไม่ให้ลุกลามได้เร็ว
  • หยุดทำกิจกรรมทุกชนิด หยุดกลับไปคว้าข้าวของ รีบเอาตัวออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด หากอยู่ใกล้ผ้าห่ม ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน เสื้อ หมอนเล็กๆ อาจหยิบมาห่มตัว หรือหยิบติดมือไปด้วยได้
  • หากไม่แน่ใจว่าต้นเพลิงเกิดจากสาเหตุใด รวมถึงหากได้กลิ่นเหม็นเหมือนแก๊ส ไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดประกายไฟ เช่น เสียบ-ดึงปลั๊กไฟ กดเปิด-ปิดสวิทช์ไฟ เพราะหากแก๊วรั่ว อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้
  • รีบเดินออกไปทางหนีไฟ หากมีควันมากให้ก้มตัวลงต่ำ อากาศที่สามารถหายใจได้จะอยู่ราว 1 ฟุตเหนือพื้น หากคว้าผ้าขนหนูชุบน้ำมาปิดจมูก หรือใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่กวาดอากาศใส่ถุง แล้วนำมาสวมครอบศีรษะ ก็จะสามารถลดอาการสำลักควันไฟ หรือลดอาการแสบจมูกได้บ้าง
  • อย่าหนีเข้าห้องอื่น ที่ไม่ใช่ทางออกเด็ดขาด เช่น ห้องอื่นๆ ที่ยังไม่มีเพลิงไหม้ ห้องใต้ดิน โดยเฉพาะห้องน้ำ การติดอยู่ในห้องที่ไม่มีทางออกคือกับดักดีๆ นี่เอง จงมุ่งหาทางที่สามารถพาเราออกจากตึกได้
  • ห้ามใช้ลิฟท์โดยสารเด็ดขาด เพราะลิฟท์อาจหยุดทำงานเมื่อเกิดเพลิงไหม้
  • ไม่ควรออกทางบันไดปกติเช่นกัน เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและ เปลวเพลิงลอยตัวขึ้นมาปกคลุม
  • มีสติว่าหากจำเป็นต้องสัมผัสกับสิ่งที่เป็นโลหะ เช่น กลอนประตู ควรใช้หลังมือแตะก่อน ความร้อนของไฟอาจทำให้กลอนประตูร้อนจนลวกมือได้
  • หากหนีมาที่บันไดหนีไฟได้ ควรปิดประตูตามหลังทันที (หากไม่มีใครตามมาข้างหลัง) อย่าเปิดอ้าทิ้งไว้ เพราะไฟและควันอาจไหลตามออกมาที่ทางเดินหนีไฟได้ พยายามอย่าให้ประตูทางเดินหนีไฟเปิดอ้าตลอดเวลา
  • เดินลงบันไดหนีไฟกันอย่างเป็นระเบียบ ค่อยๆ ตามกันไป อย่าเบียดอย่าดัน ประตูบันไดหนีไฟหนาๆ สามารถทนไฟไหม้ได้ราว 2 ชั่วโมง
  • ไฟจะลามจากชั้นล่างขึ้นชั้นบน ดังนั้นจึงควรวิ่งลงบันไดหนีไฟไปชั้นล่างให้ได้ แต่หากเปลวเพลิงทำให้ไม่สามารถเดินลงไปสู่ชั้นล่างได้ ให้ขึ้นมาที่ชั้นดาดฟ้าแทน แต่จะมีความเสี่ยงที่ประตูชั้นดาดฟ้าล็อก หรือเฮลิคอปเตอร์/บันไดยาวมาช่วยเอาไว้ไม่ทันได้
  • หากสามารถออกมานอกอาคารได้แล้ว อย่ากลับเข้าไปหยิบของ หรือช่วยเหลือใครในอาคารอีก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปช่วยเหลือโดยด่วน
 
 
 
หากสำลักควันไฟ ควรทำอย่างไร
 
 
หากมีควันไฟเป็นจำนวนมากจนทำให้ไม่สามารถหายใจได้ ควรรีบก้มตัวลงต่ำใกล้พื้นให้ได้มากที่สุด แล้วค่อยๆ คลานไปที่ทางเดินหนีไฟ ปิดจมูกด้วยผ้าขนหนู หรือผ้าสะอาดชุบน้ำ หรือคว้าถุงพลาสติกที่กวาดอากาศบริสุทธิ์เอาไว้ได้บางส่วนมาคลุมศีรษะขณะเดิน หรือหมอบคลานไปทางประตูทางเดินหนีไฟ
 
 
 
 
 
กรณีที่ไม่สามารถไปที่ทางหนีไฟได้ ควรทำอย่างไร
 
หากเพลิงไหม้เกิดขึ้นภายนอกห้อง โดยที่เราติดอยู่ในห้อง ไม่สามารถออกไปได้ ควรปิดประตูห้อง ใช้ผ้าชุบน้ำปิดขอบประตูไม่ให้ไฟและควันเข้ามาในห้อง และออกมาขอความช่วยเหลือที่ระเบียง หรือหน้าต่าง โบกผ้าหรือสิ่งของใหญ่ๆ ที่มีสีเด่นชัด เป่านกหวีด เปิดไฟฉาย ให้เจ้าหน้าที่มองเห็น หากโทรศัพท์ยังใช้ได้ให้รับโทรหาเจ้าหน้าที่ เบอร์ 199 หรือติดต่อคนรู้จักให้ช่วยเหลือโดยด่วน
 
 
รออยู่ในห้อง VS กระโดดลงมาตึก
 
ในกรณีที่ทนความร้อน หรือควันไฟหนามากจนหายใจไม่ออกจนอยากจะกระโดดลงมาจากตึก ควรคิดให้ดีว่ากำลังจะกระโดดลงมาจากชั้นอะไรของตึก หากเป็นชั้นที่สูงมาก ไม่ควรกระโดดลงมาโดยที่ไม่มีอุปกรณ์จากเจ้าหน้าที่รองรับร่างกายอยู่ด้านล่าง เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากการตกจากที่สูง
 
 
หากไฟไหม้ที่ร่างกาย ทำอย่างไร
 
หากไฟกำลังลุกท่วมตัวอยู่ ควรนอนราบกลิ้งไปกับพื้น ห้ามวิ่ง เพราะจะทำให้ไฟยิ่งลวกท่วมมากยิ่งขึ้น
 
 
 
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีแผลไฟไหม้
 
  • ถอดเครื่องประดับ ถอดเสื้อผ้าในส่วนที่เป็นแผลออก ล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ ช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณบาดแผลได้
  • ซับด้วยผ้าแห้งสะอาด แล้วสังเกตว่าถ้าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์
  • ไม่ควรใส่ตัวยา/สารใด ๆ ทาลงบนบาดแผล ถ้าไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น โดยเฉพาะ “ยาสีฟัน” และ “น้ำปลา” เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการเกิดบาดแผลติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่