นักวิจัยค้นพบ PM 2.5 อาจมีส่วนทำให้ป่วยเป็นเบาหวานได้

อนุภาค PM2.5 ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก โดยเป็นอันตรายอย่างยิ่งหากสูดดมเข้าไป โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจ  และหากเข้าสู่กระแสเลือดก็อาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจได้
 
 
แต่ความน่ากลัวและร้ายกาจของเจ้าฝุ่น PM2.5 ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะการศึกษาวิจัยใหม่จากอินเดียวพบว่า การสูดอากาศที่มีอนุภาค PM2.5 ในปริมาณสูงเข้าไปอย่างต่อเนื่องนั้น ยังส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเพิ่มความเสี่ยงของ “โรคเบาหวานประเภท 2” (Type 2 Diabetes) ด้วย
 
อินเดียได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งประเทศที่มีมลภาวะทางอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะเมืองหลวงนิวเดลี บ่อยครั้งที่เราจะเห็นชื่อของเมืองนี้อยู่ในอันดับ 1 เมืองที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในโลก ทีมวิจัยจึงได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบของ PM2.5 ต่อโอกาสในการเกิดโนรคเบาหวานประเภท 2 ซึ่งเป็นแนวทางที่ยังไม่ค่อยมีการศึกษาออกมา โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 12,000 ในเมืองเดลีและเมืองเจนไนทางตอนใต้ เป็นเวลาต่อเนื่อง 7 ปี
 
จากการศึกษาพบว่า ระดับ PM2.5 โดยเฉลี่ยต่อปีในเดลีอยู่ที่ 82-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนในเจนไนอยู่ที่ 30-40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมาตรฐานของค์การอนามัยโลก (WHO) จำกัดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนมาตรฐานคุณภาพอากาศของอินเดียคือ 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
 
ในการศึกษา นักวิจัยได้ติดตามกลุ่มตัวอย่างชายและหญิง 12,000 คนในเดลีและเจนไนตั้งแต่ปี 2010-2017 และวัดระดับน้ำตาลในเลือดของพวกเขาเป็นระยะ โดยใช้ข้อมูลดาวเทียมและแบบจำลองการสัมผัสมลพิษทางอากาศ เพื่อระบุมลพิษทางอากาศในพื้นที่ของผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนในกรอบเวลาต่าง ๆ พวกเขาพบว่า การสัมผัส PM2.5 เป็นเวลา 1 เดือนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และการสัมผัสกับ PM2.5 เป็นเวลานาน 1 ปีหรือมากกว่านั้น นำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคเบาหวาน ทีมวิจัยยังพบว่า ระดับ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานขึ้น 22%
 
สิทธัตถะ มันดาล นักวิจัยจากศูนย์ควบคุมโรคเรื้อรัง หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “เมื่อพิจารณาจากพยาธิสรีรวิทยาของชาวอินเดีย ซึ่งมีค่าดัชนีมวลกายต่ำและมีสัดส่วนไขมันสูง เราจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานมากกว่าประชากรชาวตะวันตก” เขาบอกว่า การเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา กำลังกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น
 
ขณะที่ ดร.วี โมฮาน ประธานมูลนิธิวิจัยโรคเบาหวานมาดราส หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “จนถึงขณะนี้ เราสันนิษฐานว่าการรับประทานอาหาร ความอ้วน และการออกกำลังกายเป็นปัจจัยบางประการที่อธิบายว่าทำไมชาวอินเดียในเมืองจึงมีความชุกของโรคเบาหวานมากกว่าชาวอินเดียในชนบท การศึกษาครั้งนี้เป็นการเปิดหูเปิดตา เพราะเราได้ค้นพบสาเหตุใหม่ของโรคเบาหวานนั่นคือมลภาวะทางอากาศ”
 
 
PM2.5 ประกอบด้วยซัลเฟต ไนเตรต โลหะหนัก และคาร์บอนดำที่อาจทำลายเยื่อบุหลอดเลือดและเพิ่มความดันโลหิตโดยการทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว อนุภาคสามารถสะสมอยู่ในเซลล์ไขมันและทำให้เกิดการอักเสบ และยังสามารถโจมตีกล้ามเนื้อหัวใจได้โดยตรง
 
PM2.5 ยังขัดขวางการทำหน้าที่ของต่อมไร้ท่อ โดยขัดขวางการผลิตอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหนน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในร่างกายของเราไปเป็นพลังงาน เมื่ออินซูลินทำงานไม่เต็มที่ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูง
 
แม้ว่าการค้นพบนี้จะน่าตกใจ แต่ทีมวิจัยกล่าวว่า การศึกษานี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์หวังว่า การลดมลพิษจะสามารถลดการเกิดโรคเบาหวานได้ เช่นเดียวกับโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ ที่เกิดจาก PM2.5
 
 
 
 
ที่มา : pptvhd36.com

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่