ใช้ยาคุมกำเนิดเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน จริงหรือ ?

ต้องบอกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นกันค่ะ เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะไปส่งเสริมการสร้างโปรตีนที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือดให้มากเกินกว่าปกติ ทำให้เกิดเป็นก้อนเลือดหรือลิ่มได้มากขึ้น ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นจะเป็นลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis : DVT) โดยส่วนใหญ่จะเกิดที่ขาแล้วกระจายไปตามกระแสเลือด และไปอุดตันที่หลอดเลือดดำในปอด
 
 
ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดจะมีทั้งชนิดฮอร์โมนรวม และชนิดฮอร์โมนเดี่ยว โดยการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลิ่มเลือดอุดตันมากกว่า เพราะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินรวมกันในเม็ดเดียว ซึ่งอย่างที่ทราบไปแล้วว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนช่วยเพิ่มการแข็งตัวของเลือด อันอาจนำไปสู่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ ขณะที่ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว จะมีเพียงฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่พบหลักฐานว่า ฮอร์โมนชนิดนี้จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการแข็งตัวของเลือด
 
ลิ่มเลือดอุดตันจากยาคุม เกิดได้มาก-น้อยแค่ไหน
 
 
แม้การใช้ยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดดำอุดตันได้ แต่ก็อยู่ในอัตราส่วนไม่มากค่ะ โดยในผู้หญิงชาวตะวันตกจะมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการใช้ยาคุม ประมาณ 6-15 คน ใน 10,000 คน ขณะที่ในกลุ่มผู้หญิงไทย อายุไม่เกิน 50 ปี จะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ราว ๆ 1 ใน 10,000 คน แต่หากกินยาคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2-4 ใน 10,000 
 
จะเห็นว่าหญิงชาวเอเชียมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันยากกว่าหญิงชาวตะวันตก เนื่องจากร่างกายของคนตะวันตกจะมีกลไกของสารแข็งตัวในเลือดมากกว่า ดังนั้น การใช้ยาคุมกำเนิดในคนไทยถือว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น
 
ขณะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดยังมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าการกินยาคุม ถึง 5-6 เท่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับยาคุมกำเนิด แต่เพิ่มความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้อีกอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย การนั่งเครื่องบินนาน ๆ ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ ฯลฯ อย่างที่กล่าวไปแล้ว
 
ใครต้องระวัง เมื่อจะใช้ยาคุมกำเนิด
 
อย่างไรก็ตาม ในผู้หญิงบางกลุ่มหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจนจะดีกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้มากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้วจากภาวะโรคประจำตัวหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ยิ่งถ้าใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงร่วมด้วย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่กลุ่มคนต่อไปนี้
 
          1. มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
          2. สูบบุหรี่จัด
          3. ผู้หญิงที่มีอายุมาก คือ 35 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงอายุน้อย เนื่องจากอาจเกิดโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดได้ง่าย และจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหากสูบบุหรี่จัด 
          4. มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ชนิดที่มีออร่า
          5. มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
          6. คนที่นั่งนาน ๆ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือมีเส้นเลือดขอดที่ขา
          7. คนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการอุดตันของหลอดเลือด
          8. มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ หรือเคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
          9. มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะหลอดเลือดอุดตัน ลิ่มเลือดอุดตัน หรือโรคมะเร็ง
          10. คนที่มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่