เชื่อว่าทุกคนรู้สึกเหมือนกันว่า ‘ความรู้สึกขี้เกียจ’ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร เพราะมันทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเอง ส่งผลต่อการทำงาน กระทบความสัมพันธ์ แถมทำให้คุณรู้สึกเครียดมากขึ้นอีกด้วย แต่รู้ไหมว่าความรู้สึกขี้เกียจจนไม่อยากลุกจากเตียงหรือไม่อยากทำอะไรเลย อาจเป็นสาเหตุทาง “จิตวิทยา” ที่คุณไม่ทันสังเกตเห็น ซึ่งคุณหมอ Chandni Tugnait จิตแพทย์และผู้ก่อตั้ง Gateway of Healing อธิบาย 5 เหตุผลที่ทำให้คนเรารู้สึก “ขี้เกียจสันหลังยาว” อยู่ตลอดเวลา
คุณรู้สึกเบื่อชีวิตประจำวันของคุณ
ชีวิตประจำวันที่ซ้ำซากจำเจ ทำอะไรเป็นแบบแผนทุกวัน อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนโดนกักขังหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถหนีไปไหนได้ จึงไม่แปลกใจที่คุณจะรู้สึกขี้เกียจ เพราะเมื่อไรก็ตามที่มนุษย์รู้สึกเบื่อกับวิถีชีวิตซ้ำๆ ของตัวเอง สมองของเราจะเริ่มปิดตัวเองหรือไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่ยินดียินร้ายหรือไม่ตื่นเต้นที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ ได้
คุณมีตัวเลือกในชีวิตมากเกินไป
ปัจจุบันมีสิ่งล่อตาล่อใจเรามากมาย มีตัวเลือกหลากหลายให้เราเลือกใช้ เลือกกิน เลือกทำ แต่การมีตัวเลือกที่มากเกินไปก็อาจจะส่งให้คุณรู้สึกขี้เกียจได้เช่นกัน เพราะเวลาที่มีตัวเลือกเยอะ จะส่งผลให้สมองรู้สึกเครียด ซึ่งมันจะส่งผลให้เรารู้สึกขี้เกียจและไม่อยากตัดสินใจเลือกอะไรเลย
คุณทำหลายอย่างพร้อมกัน
ถ้าคุณกำลังพยายามจะทำหลายๆ เรื่องพร้อมกันในช่วงนี้ ก็อาจส่งผลให้คุณรู้สึกขี้เกียจได้เช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือโฟกัสไปที่สิ่งสำคัญมากที่สุด ค่อยๆ จัดการทีละอย่าง ทีละขั้นตอน ก็จะช่วยให้คุณมีสมาธิและมีแรงใจที่จะเริ่มทำอะไรอื่นๆ ได้
คุณนอนหลับไม่เพียงพอ
การนอนหลับที่เพียงพอส่งผลดีมากๆ ต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต ถ้าคุณนอนไม่พอ ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้คุณรู้สึกขี้เกียจและไม่มีกำลังใจในการทำกิจกรรมใดๆ ในชีวิตได้เหมือนกัน ดังนั้น การนอนหลับให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการเข้านอนให้เป็นเวลา ก็จะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและมีพลังมากขึ้น
คุณไม่มีความท้าทายในชีวิต
หากคุณไม่รู้จักที่จะท้าทายตัวเอง หรือเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ บ้าง คุณก็อาจจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไรเลย ไม่อยากลุจากที่นอน ไม่อยากออกไปเจอใครๆ ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องหาอะไรมาท้าทายตัวเองบ้าง ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำก็อาจจะช่วยได้เช่นกัน
“แต่ถ้าคุณรู้สึกขี้เกียจอยู่ตลอดเวลา คุณอาจต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุ การไปเจอผู้เชี่ยวชาญรักษาจะช่วยให้คุณรู้ปัญหาของตัวเองและหาทางแก้ไขที่ถูกต้อง” คุณหมอ Chandni กล่าวปิดท้าย |