ผ่อนรถไม่ไหวอย่าเพิ่งท้อลอง 3 step ผ่อนหนักให้เป็นเบา

 ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถ ไม่ใช่การเคลียร์หนี้ให้กลายเป็นศูนย์แต่อย่างใด เพราะนอกจากคุณจะถูกขึ้นแบล็กลิสต์มีประวัติเสียในเครดิตบูโรแล้วนั้น รถที่โดนยึดไปจะถูกขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง จากนั้นลูกหนี้ก็ยังจำเป็นต้องจ่ายยอดหนี้ส่วนเหลือหลังจากขายทอดตลาดอีก หากไม่จ่ายก็จะถูกฟ้องร้องกลายเป็นคดีความตามมาอีกต่อหนึ่ง เรียกได้ว่ามีแต่เสียกับเสีย
 
 
 
 
อย่างไรก็ดี คุณสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ โดยใช้วิธีเหล่านี้
 
1.ปรับปรุงโครงสร้างหนี้
 
ไฟแนนซ์-ลีสซิ่งหลายแห่งมีมาตรการ "ปรับปรุงโครงสร้างหนี้" โดยจะนำยอดหนี้ที่เหลือมาคำนวณและขยายระยะเวลาการผ่อนออกไป ซึ่งจะทำให้ยอดผ่อนในแต่ละเดือนลดลง (แต่ผ่อนนานขึ้น) ซึ่งข้อเสียก็คือดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แลกกับการที่คุณยังคงมีรถไว้ใช้ และไม่กระทบถึงเครดิตทางการเงินอีกด้วย
 
 
 
2.เปลี่ยนสัญญา-ขายดาวน์
 
วิธีนี้ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม โดยคุณสามารถเปลี่ยนสัญญาไปให้ผู้อื่นผ่อนต่อได้ หากยอดหนี้ที่เหลือต่ำกว่าราคาตลาดในขณะนั้น คุณยังสามารถเรียกเงินดาวน์มาเป็นเงินก้อนไว้ใช้จ่ายได้อีกด้วย แต่หากยอดหนี้มากกว่าแล้วล่ะก็ คุณอาจจำเป็นต้องยอมขายแบบขาดทุนสักหน่อย แลกกับการไม่เสียประวัติทางการเงินนั่นเอง
 
แต่สำคัญที่สุด คือ คุณห้ามนำรถไปขายต่อให้ผู้อื่นโดยไม่เปลี่ยนสัญญาอย่างเด็ดขาด เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะถูกเบี้ยวค่างวดและเชิดรถหนีไปแบบดื้อๆ สุดท้ายก็จะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบเองอยู่ดี รวมถึงไม่นำรถไปจำนำเถื่อน (ประเภทจอดรถไว้แต่ไม่วางเล่มเพื่อนำเงินออกมา) เพราะกรรมสิทธิ์ของตัวรถยังคงเป็นของไฟแนนซ์ ผู้ครอบครองไม่สามารถนำไปจำนำหรือขายต่อโดยพลการได้
 
 
 
3.เจรจาโดยตรงกับไฟแนนซ์-ลีสซิ่ง
 
ปัจจุบันด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไฟแนนซ์และลีสซิ่งหลายแห่งต่างก็มีมาตรการรองรับลูกค้าที่ประสบปัญหาการชำระแตกต่างกันออกไป บางแห่งยินยอมให้คุณหยุดพักค่างวดไว้ชั่วคราว บางแห่งสามารถชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้ ทางที่ดีควรติดต่อขอรับข้อมูลกับไฟแนนซ์ที่ใช้บริการโดยตรง เพื่อดูว่ามีทางออกอย่างไรบ้าง

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่