องคมนตรี (หรือคณะองคมนตรี) คือตำแหน่งที่ปรึกษาที่ได้รับการแต่่งตั้งขึ้น เพื่อถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง รัชกาลที่ 5
องคมนตรีถือเป็นข้าราชการในพระองค์ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ทั้งต้องไม่ฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อเสียชีวิต ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
หน้าที่ของ “องคมนตรี”
บทบาทหน้าที่ขององคมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุว่า คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นๆ ที่ถูกบัญญัติไว้ เช่นเดียวกับการทำงานในส่วนของการพิจารณาและความความเห็นประกอบร่างกฎหมายทั้งปวง ที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อขอพระราชทานพระมหากรุณาทรงลงพระปรมาภิไธย
ทั้งนี้ งานภาพรวมขององคมนตรีนั้น คือการทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นงานกลั่นกรองพระราชกรณียกิจต่างๆ ในเบื้องต้นถวายแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นงานบริหารจัดการหรือดูแลโครงการต่างพระเนตรพระกรรณ ส่วนการปฏิบัติงานผู้แทนพระองค์หรือสนองพระราชกระแสเฉพาะเรื่องนั้น เป็นการแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ลงส่วนหนึ่ง
ประเทศไทยมี “องคมนตรี” กี่คน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุว่า คณะองคมนตรีคือบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือก และทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน
โดยคณะองคมนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ชุดปัจจุบัน มีทั้งหมด 19 คน ดังต่อไปนี้
1. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ อายุ 80 ปี ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 24 จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
2. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย อายุ 82 ปี ประธานคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช, นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล, นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ในอดีตได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
3. พลากร สุวรรณรัฐ อายุ 75 ปี เคยรับราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดปัตตานี ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อุบล ไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) ในปี 2562 พลากร สุวรรณรัฐ ถูกกล่าวถึงว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางในข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว
4. ศาสตราจารย์พิเศษ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ อายุ 79 ปี อาจารย์พิเศษประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตประธานศาลฎีกา ประธานสมาคมกฎหมายอาเซียน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา
5. ศุภชัย ภู่งาม อายุ 79 ปี ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 สืบต่อจากนายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ และเป็นผู้นำคณะผู้พิพากษาเข้ารับพระราชกระแสรับสั่งให้ตุลาการศาล ยุติธรรมช่วยแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองในช่วงกลางปี พ.ศ. 2548 ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551
6. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข อายุ 75 ปี ประธานกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เลขาธิการมูลนิธิพระดาบส, อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และอดีตรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) คนที่ 1
7. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา อายุ 68 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา, หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช.และสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, อดีตแม่ทัพภาคที่ 1, อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์, อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และอดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
8. พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อายุ 70 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตที่ปรึกษาและอดีตเลขานุการคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก อดีตเสนาธิการทหารบก เป็นหนึ่งในนายทหารที่ ควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ปฏิบัติหน้าที่ตาม พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
9. จรัลธาดา กรรณสูต อายุ 74 ปี ประธานคณะกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ประธานกรรมการบริหารกองทุนพระราชทานสำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อดีตที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตอธิบดีกรมประมง ในปี พ.ศ. 2554 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ญี่ปุ่น The Order of the Rising Sun,Gold Rays with Neck Ribbon จากสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น
10. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ราชองครักษ์พิเศษ อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์ เป็นหนึ่งในนายทหารที่ ควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ปฏิบัติหน้าที่ตาม พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อดีต รองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าเป็น ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
11. พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ อายุ 66 ปี องคมนตรีที่เป็นทหารเรือคนเดียวในคณะ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการในคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
12. รองศาสตราจารย์ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา อายุ 81 ปี อดีตเลขาธิการพระราชวัง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 และเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพระราชวัง ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559
13. อำพน กิตติอำพน อายุ 68 ปี เมื่อนับถึงปี 2558 อำพน ในฐานะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถือเป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งซี 11 นานที่สุด อาวุโสสูงสุด ในบรรดาข้าราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง ยาวถึง 12 ปี ทำงานให้แก่ 7 รัฐบาล โดยทำงานให้แก่นายกรัฐมนตรีทั้งหมด 3 คน ได้แก่ ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตประธานกรรมการบริษัทการบินไทย, ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการโครงการจิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร., กรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
14. พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท อายุ 66 ปี อดีตผู้บัญชาการทหารบก, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, กรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) อดีตเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อดีตผู้อำนวยการกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อย ในวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ได้ประกาศสงครามกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่เคลื่อนไหวผ่านเว็บไซด์เฟซบุ๊กและยูทูบ รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยกลุ่มดังกล่าวพำนักอยู่ต่างประเทศ
15. พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง อายุ 65 ปี อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อดีตสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, อดีตเสนาธิการทหารอากาศ, อดีตผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน และ อดีตกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
16. นุรักษ์ มาประณีต อายุ 74 ปี อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของนุรักษ์ในขณะดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญได้แก่ การวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง 29 พรรค อาทิ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และ พรรคอนาคตใหม่ แต่ยกร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ วินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรี 2 คนพ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ สมัคร สุนทรเวช และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องที่มา สมาชิกวุฒิสภา ตกไป วินิจฉัยให้ ร่าง พระราชบัญญัติ ให้ฯ กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ตกไป วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบ และวินิจฉัยให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.
17. ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว อายุ 85 ปี เป็นนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีใน พ.ศ. 2564 ผลงานส่วนใหญ่เป็นด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ คือ งานวิจัยการจัดการลุ่มน้ำและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การเกษตรดีเด่นสองสมัย (พ.ศ. 2536 และ พ.ศ. 2539) จากสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย
18. พล.อ. บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ อายุ 85 ปี อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, อดีตแม่ทัพภาคที่ 1, อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, อดีตแม่ทัพน้อยที่ 1, นายกสมาคมทหารผ่านศึกเกาหลี ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนที่ 10 ได้รับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีวันที่ 21 ตุลาคม 2565
19. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งก่อรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ก่อนหน้านั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้รับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 |