แม้ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายอดขายรถยนต์ส่วนใหญ่ของประเทศยังคงเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปเช่นเดิม ซึ่งสาเหตุหลักๆ สรุปได้ดังนี้
1. ราคารถ EV ยังคงสูงอยู่ - แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ เช่น การยกเว้นภาษีสรรพสามิต การลดภาษีประจำปี ฯลฯ แต่ส่วนต่างราคายังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรถสันดาปในเซกเมนต์เดียวกัน หลายคนจึงมองว่าการนำส่วนต่างไปเป็นค่าน้ำมันดูเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
2. ระยะทางขับขี่จำกัด - ระยะทางขับขี่ของรถ EV ยังคงเป็นไปอย่างจำกัด หากจำเป็นต้องนำรถออกเดินทางไปต่างจังหวัด จะต้องแวะชาร์จไฟยังสถานีชาร์จอยู่เป็นระยะ ทำให้การเดินทางไม่ต่อเนื่องเหมือนกับรถน้ำมัน อีกทั้งการชาร์จแต่ละครั้งมักกินเวลาอย่างน้อย 30 นาที ไปจนถึง 1 ชั่วโมง ต่างจากรถสัปดาปที่ใช้เวลาเติมเต็มถังเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
3. ความกังวลด้านการใช้งาน - แม้ว่ารถ EV จะมีสมรรถนะการขับขี่ที่ดีกว่ารถสันดาปในระดับราคาใกล้เคียงกัน แต่ก็แลกมาด้วยเงื่อนไขในการใช้งานที่เพิ่มเติมขึ้นมา เช่น การหาสถานีชาร์จ, การจองคิวสถานีชาร์จ, ระยะเวลาในการชาร์จ และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระยะยาว
4. ความกังวลด้านเทคโนโลยี - คนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีของรถ EV เช่น การเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแบตเตอรี่หลังหมดประกัน, ความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงราคาขายต่อที่อาจแปรผันรุนแรงในอนาคต
อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่างก็เร่งพัฒนาเทคโนโลยีของมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่กันอย่างแข็งขัน ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีระยะทางขับขี่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานีชาร์จที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงคาดว่าในอนาคตรถ EV จะมีสัดส่วนแทนที่รถน้ำมันเพิ่มขึ้นจากนี้อีกมากอย่างแน่นอน |