จากการเกิดภัยธรรมชาติภูเขาไฟระเบิดของภูเขาไฟตองกา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ส่งผลให้เกิดควันภูเขาไฟและเถ้าถ่านที่เป็นมลพิษทางอากาศ พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าไปไกลได้ถึงประมาณ 20 กิโลเมตร และเกิดคลื่นสึนามิสูงถึง 15 เมตร ซัดเข้าชายฝั่งของเกาะแมงโก้ ทำให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งบนเกาะหายไปแทบทั้งหมู่บ้าน เหตุภูเขาไฟระเบิดผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงจนทั้งเกาะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไปช่วงระยะหนึ่ง และอีกหลายประเทศที่ชายฝั่งติดมหาสมุทรแปซิฟิกได้รับความเสียหายรุนแรงจากภูเขาไฟปะทุลูกนี้
แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบ เพราะจุดภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดอยู่ห่างจากชายฝั่งของไทยไปประมาณ 9,500 กิโลเมตร แต่ก็ต้องมีการจับตามองและเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
ข่าวการเกิดภูเขาไฟหลายแห่งที่ยังคุกรุ่นอยู่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาไฟที่ตั้งอยู่บนเทือกเขารอบมหาสมุทรแปซิฟิก หรือ “วงแหวนแห่งไฟ” ที่หลายๆคนรู้จักกันดี ซึ่งมากกว่าร้อยละ 75% ของภูเขาไฟทั้งหมดบนโลก หรือประมาณ 850 ลูก ที่ยังมีพลังอยู่ (Active Volcanoes) และครอบคลุมถึง 31 ประเทศด้วยกัน ตั้งแต่ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา ทวีปอเมริกาเหนือ และมักจะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวถึง 90% บนโลก ยังไม่นับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นอีก 80%
ภูเขาไฟต่างประเทศและเป็นภูเขาไฟดังๆที่หลายๆคนอาจเคยได้ยินชื่ออยู่บ้าง เช่น ภูเขาไฟตองกา ภูเขาไฟฟูจิ ภูเขาไฟคองโก ภูเขาไฟกรากะตัว ภูเขาไฟซีนาบุง ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นภูเขาไฟที่ยัง Active อยู่ ทีนี้เราย้อนกลับมาดูข้อมูลภูเขาไฟในประเทศไทยกันบ้าง เพราะมีภูเขาไฟที่เคยปะทุในไทย และภูเขาไฟที่ดับแล้วเช่นกัน แต่จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกันนะ ที่ภูเขาไฟของไทยเราจะปะทุขึ้นมาอีก ก่อนอื่นเราทำความรู้จักการกำเนิดภูเขาไฟเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย ภูเขาไฟคืออะไร ภูเขาไฟเกิดจากอะไร และชนิดภูเขาไฟในประเทศไทย
ภูเขาไฟคือ ภูเขาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก มีหินหนืดอยู่ใต้เปลือกโลก ในอุณหภูมิสูงมาก จนเกิดแรงดันและการกระแทกแทรกตัวตามรอยแยกขึ้นสู่ผิวโลก โดยมีแรงปะทุหรือแรงระเบิดผลักดันหินหนืดที่ร้อนจัด ไอน้ำ เศษหิน ฝุ่นละออง และก๊าซต่างๆ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และ ก๊าซไนโตรเจน (N2) เป็นต้น พุ่งออกมาจากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งหินหนืดที่พุ่งออกมานี้คือ “ลาวา” (LAVA) แต่หินหนืดที่ยังไม่ออกสู่พื้นผิวโลก เรียกว่า “แมกมา” (Magma)
เราสามารถเรียกภูเขาไฟภาษาอังกฤษว่า Volcano โดยภูเขาไฟจะมี 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
ภูเขาไฟมีพลัง (Active Volcanoes) เป็นภูเขาไฟที่เพิ่งเกิดการปะทุหรืออาจปะทุในอนาคต
ภูเขาไฟสงบ (Dormant Volcanoes) เป็นภูเขาไฟที่ยังไม่มีการปะทุ แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ภูเขาไฟดับสนิท (Extinct Volcanoes) ภูเขาไฟที่จะไม่เกิดการปะทุขึ้นอีกเลย
และยังสามารถแบ่งตามรูปร่างลักษณะได้อีก 4 ประเภท ดังนี้
ภูเขาไฟแบบกรวยสูง (Steep cone)
ภูเขาไฟแบบโล่ (Shield Volcano)
ภูเขาไฟแบบกรวยกรวด (Ash and cinder cone)
ภูเขาไฟแบบสลับชั้น (Composite cone)
ภูเขาไฟในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาไฟแบบโล่ และเป็นภูเขาไฟดับแล้ว แม้ว่าจะเคยเกิดการระเบิดมาก่อน แต่นั้นก็ผ่านมานานมากกว่าหมื่นปีแล้ว แต่ก็ยังภูเขาไฟอายุน้อยๆหลงเหลืออยู่บ้าง ตัวอย่างภูเขาไฟที่ว่านี้ เช่น ภูเขาไฟใน จ.บุรีรัมย์ ภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู จ.ลำปาง เป็นต้น ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วแต่ก็มีโอกาสที่อาจปะทุขึ้นได้อีก แม้ว่าจะน้อยมากๆก็ตาม เพราะไม่ได้อยู่แนวมุดตัวเหมือนภูเขาไฟ จ.เลย และ จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้นักวิชาการและนักวิจัยเชื่อมั่น ว่าหากเกิดการระเบิดของภูเขาไฟการป้องกันสำหรับในประเทศไทย คาดว่าจะสามารถทำได้โดยไม่น่ากังวล
แต่ที่น่ากังวลและควรเฝ้าระวังคือ ภูเขาไฟใต้ทะเลลูกเล็กที่เกาะบาแรน หรือภูเขาไฟชื่อ Barren Island ใกล้กับเกาะนิโคบาร์ มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งห่างจากประเทศไทยเพียง 700 กิโลเมตร ทางฝั่งอันดามัน ด้านจังหวัดระนอง ภูเก็ต และพังงา พบว่าภูเขาไฟลูกนี้ยังคงปลดปล่อยพลังงานอยู่เป็นระยะๆ และอาจมีโอกาสที่จะปะทุ ทำให้เกิดแผ่นดินไหว และเกิดสึนามิตามขึ้นมาได้ แต่ก็อาจมาไม่ถึงประเทศไทย แต่นั่นก็ให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะเป็นภูเขาไฟอีกจุดหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง ด้วยภูมิศาสตร์และการทับซ้อนตามแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก และมีภูเขาไฟที่มีพลังกระจายตัวรอบๆ ไทยจึงต้องเตรียมพร้อมและคอยตรวจสอบเตือนภัย รวมถึงการให้ความรู้ในการอพยพ การขนย้ายผู้ป่วยและสัตว์เลี้ยง
ภูเขาไฟที่ดับแล้วในไทยจะมีด้วยกัน 8 แห่ง โดยจะเป็นภูเขาไฟจ.บุรีรัมย์ 6 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ภูเขาไฟหินพนมรุ้ง ภูเขาไฟหินหลุบ ภูเขาไฟคอก ภูเขาไฟอังคาร ภูเขาไฟไปรบัด ภูเขาไฟกระโดง จ.บุรีรัมย์ และอีก 2 แห่งคือ ภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู และ ภูเขาไฟดอยผาดอกจำปาแดด
**ภูเขาไฟดอยผาคอกจำปาแดด และ ภูเขาไฟดอยหินคอกผาฟู จะตั้งอยู่ไม่ไกลกัน โดยอยู่กันลูกละฝั่งถนน เพราะภูเขาไฟในไทยจะเป็นชนิดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว อาจไม่ได้เห็นความยิ่งใหญ่อลังการ ความสวยงามที่แฝงไปด้วยความน่ากลัว เหมือนๆอย่างภูเขาไฟต่างประเทศ แต่เชื่อว่าหลายๆคนคงยินดีที่มันเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วอย่างนี้มากกว่า แต่!! เราก็ไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้ ดังนั้นการไม่ประมาทจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้รอดพ้นสถานการณ์เลวร้ายได้มากกว่าความประมาทอย่างแน่นอน
สิ่งสำคัญในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดสถานการณ์ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว และสึนามิ อย่า!!ฝากความหวังไว้กับระบบเตือนภัย 100% เพราะต่อให้ผ่านการฝึกซ้อมมามากแค่ไหน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์จริง ระบบเตือนภัยก็อาจทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้ |