ตด 6 ประเภทที่ส่งสัญญาณเตือนภัยต่อร่างกาย

“ตด” หรือภาษาที่สุภาพหน่อยเรียกว่า “ผายลม” คืออาการที่ลมระบายออกมาทางทวารหนัก สาเหตุของการตดเกิดจากแก๊สที่สะสมในระบบย่อยอาหาร เนื่องจากกระบวนการย่อยสลายอาหารไปเป็นพลังงานของร่างกาย  
 
แต่ถ้าใครชอบตดบ่อยๆ อาจเกิดจากการรับประทานอาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดแก๊สมาก เช่น อาหารจำพวกโปรตีนสูงพวกเนื้อสัตว์ ไข่ พืชตระกูลถั่ว ผักที่มีเส้นใยสูง หรือผักบางจำพวกทำให้ตดมีกลิ่นรุนแรง เช่น คะน้า กะหล่ำปลี รวมถึงผักที่มีกลิ่นแรง นอกจากนี้การกลืนอากาศซึ่งเกิดขึ้นจากการเคี้ยวอาหาร หายใจ สูบบุหรี่ ซึ่งแก๊สเหล่านี้ต้องหาที่ระบายออกถ้าตีขึ้นข้างบนจะกลายเป็นเรอ แต่ถ้าลมตีลงล่างก็เรียกว่าตด
 
 
 
1. ตดเพราะท้องผูก : เรามักได้ยินว่าการกินผักมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความพอดีด้วย คนรักสุขภาพที่ชอบกินผักเป็นอาหารหลักทุกมื้อนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพเสียแล้ว วารสารขององค์การอนามัยโลกตีพิมพ์บทความเมื่อปี 2019 กล่าวว่าควรบริโภคใยอาหาร 25 ถึง 29 กรัมในแต่ละมื้อจึงเหมาะสมที่สุด การที่ร่างกายได้รับไฟเบอร์จากผักในปริมาณที่สูงอาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารได้ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ทำให้เกิดแก๊สมากในระบบการย่อย วิธีแก้ไขคือเมื่อทานผักเยอะๆ ก็ควรดื่มน้ำเยอะด้วย
 
2. ตดจากเครื่องดื่มน้ำอัดลม : เวลาอากาศร้อนๆ คนส่วนมากชอบดื่มน้ำอัดลมเย็นๆ จะช่วยคลายร้อน แต่น้ำอัดลมประกอบด้วยกรดคาร์บอนิก ซึ่งทำให้น้ำอัดลมซ่า มีฟอง เป็นตัวผลิตแก๊สในลำไส้ นอกจากนี้เบียร์ โซดา และน้ำแร่อัดแก๊สก็อยู่ในประเภทเครื่องดื่มน้ำอัดลมด้วย ผลเสียของการดื่มเครื่องดื่มที่มีแก๊สมากๆ จะทำให้คุณตดได้ทั้งวันทั้งคืน ซึ่งอาจสร้างความรำคาญให้กับคนรอบข้างได้
 
3. ช่วยด้วย! ตดมีกลิ่นเหม็นรุนแรง : ปกติตดที่ถูกสุขลักษณะจะมีแค่เสียงแต่ไร้กลิ่นเรียกว่าตดสะอาด แต่ถ้าใครตดมีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ อาจเกิดจากคุณกินผักประเภทกลิ่นแรงหรือผักที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน เช่น พืชตระกูลกะหล่ำ ถั่ว ชีส แต่ถ้าตดมีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพราะเป็นไปได้ว่ากลิ่นจะเชื่อมโยงกับโรคลำไส้อักเสบหรือลำไส้แปรปรวน
 
4. ตดเหม็นจากแพ้อาหาร : ถ้าหลังจากดื่มนมหรือกินชีสแล้วรู้สึกเป็นตะคริวและมีอาการท้องอืดมาก นั่นคืออาการแพ้แลคโตส เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตส มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลำไส้เล็กที่ไม่สามารถผลิตเอนไซม์ที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลคโตสโดยเฉพาะ จนน้ำตาลแลคโตสไม่สามารถดูดซึมในร่างกายได้ส่งผ่านต่อไปที่ลำไส้ใหญ่ และเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่เข้าย่อยแลคโตส จนเกิดเป็นแก๊ส และของเหลวในลำไส้ ทำให้มีอาการผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น
 
5. ตดบ่อยตอนมีประจำเดือน : ในช่วงการมีประจำเดือนของผู้หญิงนั้น เป็นระยะที่ฮอร์โมนผิดปกติแปรปรวน อาจทำให้เกิดอาการร่างกายบวมน้ำหรือท้องอืดไม่สบายตัว ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายปล่อยตดออกมาบ่อยผิดปกติด้วย
 
6. ตดเพราะเครียด : ความเครียดส่งผลเสียได้ทุกระบบของร่างกายรวมถึงระบบการย่อยด้วย เวลาเกิดอาการเครียดเรามักจะรู้สึกท้องอืด อาหารไม่ย่อย หรือท้องเสีย การที่ช่องท้องมีแก๊สมากเกินไปตามธรรมชาติก็ต้องระบายออกมาเป็นตด บางคนอาจะรู้สึกว่าการได้ปลดปล่อยแก๊สออกมาบ้างจะช่วยให้หายอึดอัดและช่วยให้เครียดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามวิธีคลายเครียดที่ดีที่สุดคือการหาสาเหตุของความเครียดและกำจัดมันทิ้งเสีย

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่