"ฝนกรด" (Acid Rain) คืออะไร หลายคนอาจสงสัยว่า เจ้า "ฝนกรด" นี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้เราจึงมาหาคำตอบกันว่า สาเหตุที่ทำให้เจ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น ต้นเหตุมาจากอะไร
รู้จัก "ฝนกรด" ภัยใกล้ตัว จากน้ำมือมนุษย์
ปรากฏการณ์ "ฝนกรด" คือ การลดลงของค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือค่า pH ของน้ำฝนในธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติแล้ว น้ำฝนมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ โดยมีค่า pH อยู่ที่ราว 5.6 แต่เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้ค่า pH ของน้ำฝนลดต่ำลงกว่าปกติ และในบางพื้นที่ หากมีมลพิษทางอากาศสูง อย่างเช่น ปล่อยก๊าซที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ ก็ยิ่งทำให้น้ำฝน อาจมีค่า pH อยู่ในช่วง 4.2 ถึง 4.4 เลยทีเดียว
ปรากฏการณ์ "ฝนกรด" เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของน้ำฝน และก๊าซออกไซด์ของโลหะบางชนิดในอากาศ ซึ่งในธรรมชาติ เมื่อเกิดการระเบิดของภูเขาไฟ หรือ เกิดไฟป่า มักเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทำให้ฝนที่ตกลงมาในช่วงเวลานั้น มีฤทธิ์เป็นกรดมากกว่าน้ำฝนปกติ แต่ปรากฏการณ์ฝนกรดในธรรมชาติ เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก
ในทางตรงกันข้าม ปรากฏการณ์ "ฝนกรด" ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหินในอุตสาหกรรมไฟฟ้า การปล่อยควันพิษ และของเสียจากโรงงานต่างๆ รวมไปถึงมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ รวมทั้งเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานสารเคมีต่างๆ
เมื่อควันไฟที่ประกอบไปด้วยสารพิษต่างๆ ลอยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ กระบวนการทางเคมีของฝนกรดก็เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการทำปฏิกิริยาระหว่างไอน้ำ ออกซิเจน และสสารต่างๆในอากาศ กับก๊าซออกไซด์ของโลหะบางชนิด เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ก่อให้เกิดกรดซัลฟูริก , กรดไนตริก และสารพิษอื่นๆ ที่เข้ามาปนเปื้อนอยู่ในน้ำฝน หรือ หิมะ และหมอก
และการรวมตัวของกรดซัลฟูริก หรือ กรดไนตริก กับเมฆบนท้องฟ้า ซึ่งส่งผลให้น้ำฝน หรือ หิมะ ที่ตกลงสู่พื้นโลก มีฤทธิ์เป็นกรด โดยอนุภาคเหล่านี้สามารถเคลื่อนที่ไปตามแรงลม ได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร ก่อนตกลงสู่พื้นดิน แหล่งน้ำ หรือสะสมอยู่ตามต้นไม้ อาคาร และสิ่งก่อสร้าง
ส่วนผลกระทบจากปรากฏการณ์ฝนกรดที่เกิดกับมนุษย์ สามารถสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงระบบทางเดินอาหาร เพราะหากบริโภคน้ำฝนที่เพิ่งตกลงมาใหม่ ๆ อาจเสี่ยงต่อการดื่มน้ำที่มีสภาวะเป็นกรดและมีสารพิษปนเปื้อน |