หวาย (Rattan) เป็นไม้ป่าในพืชตระกูลปาล์มนิยมนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้านโดยเฉพาะในการ จักสานเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงการนำหน่อหวายมาปรุงอาหารซึ่งให้รสชาตอร่อยเหมือนหน่อไม้ทั่วไป
ใน ทางการค้ามีการใช้คำเรียกหวาย 2 คำ คือ Cane หมายถึง หวายที่มีลำต้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 เซนติเมตร และ Rattan หมายถึง หวายที่มีลำต้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2 เซนติเมตร
หวายจัด เป็นไม้ที่มีความสำคัญทางงานหัตถกรรมต่างๆ เนื่องจากหวายมีเนื้อเหนียว แข็งแรง และยืดหยุ่นได้ดีกว่าไม้ไผ่หรือไม้จักสานชนิดอื่นๆ สามารถจักเป็นเส้นหรือแผ่นบางได้ง่าย โค้งงอได้ดี นอกจากนั้น ยอดอ่อน และหน่อหวายยังนิยมนำมารับประทาน และปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง
หวาย เป็นพืชตระกูลปาล์ม ทั่วโลกมีมากว่า 14 สกุล และมากกว่า 600 ชนิด พบแพร่กระจายบริเวณที่มีความชื้นสูง มีฝนตกชุก พบได้ในหลายประเทศในแถบเอเชีย และพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรตั้งแต่ประเทศไทย พม่า ลาว มาเลเชีย เวียดนาม มาเลเชีย อินโดนีเชีย อินเดีย ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย และตามหมู่เกาะบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร ในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบประมาณ 9 สกุล มีมากกว่า 310 ชนิด และพบในประทศไทยประมาณ 6 สกุล ประมาณ 50 ชนิด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชในสกุลหวายทุกชนิดมีลักษณะลำต้นปีนป่าย มีทั้งลำต้นเดี่ยวหรือเป็นกอ ซึ่งหวายต้นเดี่ยวเมื่อตัดลำต้นแล้งจะไม่แตกต้นใหม่ ส่วนหวายกอสามารถทยอยตัดได้ และมีการแตกต้นใหม่ที่ตาใกล้ซอกใบบริเวณโคนต้น ข้อที่ 2-3 หวายบางชนิด เช่น Calamus trachycoleus หน่อที่แตกใหม่จะพัฒนาเป็นไหลยาวได้มากกว่า 3 เมตร
1. ราก
รากหวายมีระบบรากแขนง และรากฝอย ที่แตกรากแขนงออกในแนวราบ และแนวดิ่ง แต่มักเจริญเป็นรากแขนงในแนวราบใกล้ผิวดิน และสานกันแน่น อาจแพร่ไกลได้ถึง 5-8 เมตร รอบลำต้น
2. ลำต้น
ลำต้นหวายมีลักษณะกลม แต่บางชนิดมีรูปทรงสามเหลี่ยม ขนาดลำต้นเล็กจนถึงใหญ่ ขนาดตั้งแต่ 15 มิลลิเมตร จนถึง 10 เซนติเมตร ถูกห่อหุ้มด้วยกาบใบหรือกาบหุ้มลำ ลำต้นสูงได้มากกว่า 2 เมตร บริเวณโคนต้นใหญ่ และเรียวเล็กลงเรื่อยๆจนถึงปลาย ลำต้นเป็นปล้อง มีข้อ ต้นอ่อนมีสีขาวครีม ใช้นำประกอบอาหาร มีรสฝาด และขมเล็กน้อย เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และมีเส้นใยเหนียวแข็ง บางชนิดมีมือเกาะ แทงออกบริเวณส่วนข้อของลำต้น ส่วนยอดอ่อนนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารได้เช่นกัน
3. ใบ
ใบหวายประกอบด้วย 3 ส่วน คือ กาบใบ (leaf sheath) ก้านใบ (rachis) และใบ (leaflet) แทงออกบริเวณ
• กาบใบหรือกาบหุ้มลำ จะแทงออกบริเวณข้อ หุ้มสลับทับเหลี่ยมกันตลอดลำต้นตอนบน เมื่อแก่จะหลุดร่วงทิ้งรอยแผลตามข้อ กาบหุ้มลำนี้จะเป็นส่วนโคนของใบ และเป็นส่วนที่มีหนามเกิดในลักษณะแตกต่างกันตามพันธุ์ ทั้งขนาด สี และการเรียงตัว ซึ่งช่วยในการจำแนกชนิดหวายได้ แต่หวายบางชนิดอาจไม่มีหนามบริเวณกาบใบ ส่วนบริเวณด้านในบริเวณตอนบนของโคนกาบใบจะมีเยื่อบางๆที่เรียกว่า ocrea ซึ่งจะผุกร่อนเมื่อใบแก่ และร่วง บางชนิดจะมี ocrea ที่เด่นชัดจากการพองโตออกมาให้เห็น
• ก้านใบ ลักษณะก้านใบ และหนามที่เกิดจะแตกต่างกันตามพันธุ์แต่ละชนิด บางชนิดบริเวณกาบหุ้มลำบริเวณด้านล่างของโคนกาบใบที่เป็น ocrea จะพองโตเป็นสันนูน เรียกว่า เข่า (knee) ที่เชื่อว่าทำหน้าที่จัดเรียงตัวใบหวายจากแนวดิ่งมาสู่แนวราบ
• ทางใบ หรือก้านใบย่อย ที่เริ่มมีใบย่อยแทงออกด้านซ้าย-ขวา มีลักษณะโค้งลงด้านล่างบริเวณส่วนปลาย ทางใบด้านบนมีสีเขียวเข้มกว่าทางใบด้านล่าง และเกิดหนามรูปเล็บเหยี่ยวตลอดแนว มักพบหนามในด้านล่าง ส่วนด้านบนพบหนามในบางสายพันธุ์ และบางพันธุ์อาจพบหนามบริเวณด้านข้างของทางใบด้วย
• ใบย่อย มีลักษณะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ อาจเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือรูปยาวรี หรือรูปรี มีลักษณะโค้งลงด้านล่างบริเวณปลายใบ ขอบใบหยัก เรียงตัวหลายแบบในแต่ละพันธุ์ เช่น แบบตรงข้ามกัน แบบเยื้อง และแบบสลับ
• มือเกาะ หรืออวัยวะปีนป่าย เป็นส่วนที่ใช้สำหรับปีนป่ายเพื่ออิงลำต้นให้เลื้อย และเติบโตสำหรับรับแสง พบเจริญออกในหวายที่โตเต็มที่ ไม่พบในระยะกล้า มี 2 รูปแบบ คือ
– มือเกาะที่เกิดบริเวณส่วนปลายของทางใบ เรียกว่า cirrus มีความยาวประมาณ 2-3 เมตร บริเวณด้านล่างมีหนามรูปเล็บเหยี่ยว
– มือเกาะที่เกิดบนลำต้นบริเวณบริเวณเดีียวกับช่อดอก เรียกว่า flagellum มีความยาวประมาณ 1-5 เมตร มีหนามรูปเล็บเหยี่ยวกระจายตลอดความยาว
4. ดอก และช่อดอก
หวายออกดอกเป็นช่อเหมือนพืชในตะกูลปาล์มทุกชนิด ช่อดอกมีลักษณะเป็นพวงสีขาว ช่อดอกที่แทงออกใหม่จะมีปลีหุ้ม เมื่อดอกแก่ปลีจะคลี่ออก มองเห็นลูกหวายเป็นตุ่มสีขาวนวลภายใน ภายในช่อดอกอาจมีทั้งดอกเพศผู้ และดอกเพศเมีย แต่หวายส่วนมากจะมีดอกเพศผู้ และเพศเมียอยู่คนละต้นกัน
ลักษณะดอกของหวายมี 2 แบบ คือ Hapaxanthic ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดลำหวาย และ Pleonanthic ออกดอกเป็นช่อบริเวณข้อของลำต้น ทั้งนี้ ดอกในช่อจะสุกไม่พร้อมกัน
5. ผล และเมล็ด
ผลหวายมีลักษณะเป็นเกล็ดเรียงซ้อนกันในทิศปลายผลมาฐานผล แต่ผลหวายบางชนิดจะมีลักษณะเกร็ดแบบหนามคล้ายผลระกำ สีของเปลือกผลมีหลายสีตามชนิดหวาย ผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน และเขียวเข้มเมื่อแก่ และเมื่อสุกจะเปลี้ยนเป็นได้หลายสี เช่น สีเหลือง สีแดง และสีขาว แตกต่างกันตามสายพันธุ์ เมื่อสุกจัดจะมีสีคล้ำดำ ขนาดผลมีตั้งแต่เท่าเมล็ดข้าวโพดจนถึงเท่าลูกพุดทราหรือเท่าหัวแม่มือ และเปลือกผลเมื่อสุกสามารถรับประทานได้ เนื้อมีรสหวาน ส่วนด้านในเป็นเมล็ด อาจมีเมล็ดเดียวหรือบางพันธุ์มีได้ 2-3 เมล็ด/ผล ลักษณะเมล็ดค่อนข้างกลม และแบนรี
ชนิดหวายในไทย
1. หวายลิง เป็นหวายเลื้อย ยาวได้มากกว่า 3 เมตร ที่ชอบขึ้นตามชายทะเล ลำห้วย หนองบึง เป็นชนิดที่ไม่มีหนาม ใบคล้ายใบผักปราบ นิยมนำมาจักตอก
2. หวายโปร่ง เป็นหวายที่มีขนาดพอๆกับไผ่รวก นิยมนำมาจักสานเครื่องหัตถกรรม ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ผลมีขนาดประมาณลูกพุดทราหรือเมล็ดบัวหลวง เปลือกเมล็ดแข็งเป็นเกร็ด เมื่อสุกผลมีสีเหลือง ดอกใช้รับประทานได้
3. หวายพรวน เป็นหวายที่มีขนาดลำต้นใหญ่ที่สุด ขนาดประมาณเท่าข้อมือ พบมากในจังหวัดตรัง พังงา และภูเก็ต เนื้อหวายมีความเหนียว และทนทาน นิยมนำมาทำเชือก ล่ามช้าง ล่ามวัว รวมถึงนิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน และฝ้าผนังบ้าน เนื่องจากสามารถจักเป็นแผ่นขนาดใหญ่ได้ดี
4. หวายขม เป็นหวายที่มีขนาดประมาณหัวแม่มือ ใบเล็กยาวคล้ายใบระกำ เนื้อเปราะง่าย ไม่ทนทาน ไม่นิยมนำมาจักสาน แต่หน่อ และยอดใช้รับประทานได้ มีรสขมเล็กน้อย เมล็ดหวายมีขนาดเล็กประมาณเท่าเมล็ดข้าวโพด เปลือกเมล็ดเป็นเกล็ดสีขาว นิยมใช้ทำยา
5. หวายน้ำ เป็นหวายที่มีขนาดลำต้นประมาณนิ้วก้อย ชอบขึ้นบริเวณที่ชุ่ม น้ำท่วมขัง เนื้อหวายมีความเหนียวทน นิยมนำมาจักสานข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ตะกร้า ถาดใส่อาหาร หมวก เป็นต้น
6. หวายตะค้าทอง เป็นหวายเลื้อย ยาวได้มากกว่า 6 เมตร ลำต้นขนาดเท่าหัวแม่มือ ที่ชอบขึ้นบริเวณที่ชุ่ม และน้ำท่วมขัง เนื้อหวายเหนียว ทนทาน นิยมใช้จักสานงานหัตถกรรมทุกชนิด เมล็ดใช้ทำยา พบมากในจังหวัดภาคใต้
7. หวายชุมพร เป็นหวายขนาดเล็กกว่านิ้วก้อย เนื้อหวายหยาบเหนียวมาก นิยมใช้จักตอก ทำเชือก และจักสานงานหัตถกรรม
8. หวายชะอัง เป็นหวายขนาดเล็ก เนื้อหวายเนียว ทนทาน นิยมใช้ทำเชือก ทำตอก และเครื่องจักสาน พบมากในภาคใต้ โดยเฉพาะตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
9. หวายสะเดา และหวายสมิง เป็นหวายที่พบในภาคตะวันออก
10. ชนิดหวายที่เรียกในชื่ออื่นๆ เช่น หวายขี้เสี้ยน หวายงวย หวายเดาใหญ่ หวายข้อดำ หวายขี้ผึ้ง หวายแดง หวายกาหลง หวายขี้ไก่ หวายช้าง หวายพังกา หวายผิวเบาะ หวายแดง หวายเจียน หวายหัวตัด หวายพุน หวายขี้บาง หวายนางนวล หวายหางหนู หวายนั่ง หวายโคก และหวายดง เป็นต้น
ประโยชน์ของหวาย
1. ลำต้นนำมาจักสานเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ ม้านั่ง เตียงนอน เป็นต้น มักใช้หวายขนาดใหญ่ เช่น หวายโป่ง หวายกำพวน หวายข้อดำ หวายตะค้าทอง เป็นต้น
2. ใช้จักสานเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ เช่น ถาด ตะกร้า หมวก เป็นต้น มักใช้หวายขนาดเล็กที่เหนียว และโค้งงอได้ดี เช่น หวายกาหลง หวายหอม หวายดง หวายขี้บาง หวายพุน เป็นต้น
3. ใช้จักสานเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น ฝ้า ผนัง หน้าต่าง เป็นต้น มักใช้หวายขนาดใหญ่
4. ลำต้นแก่จักหรือกรีดเป็นเส้น แล้วตากแห้ง นำมาใช้ทำเป็นเชือกคล้องช้าง คล้องโค หรือทำเป็นเชือกรัดของ
5. ยอดอ่อน ดอกอ่อน หน่ออ่อน นำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู อาทิ แกงอ่อม แกงหวาย แกงจืด รวมถึงลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก เช่น หวายโคก หวายดง หวายหางหนู หวายนั่ง หวายขม เป็นต้น
6. ราก ใบ แก่น/เนื้อไม้ ดอก และผล นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ใช้ได้ในหวายทุกชนิด ได้แก่ รักษาไข้ ลดพิษจากสัตว์ต่อย ใช้ขับพยาธิ แก้อาการชัก แก้เป็นลม แก้หอบหืด ช่วยขับปัสสาวะ รักษาโรคท้องร่วง ท้องเสีย และช่วยเจริญอาหาร
7. ใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ โดยปลูกแซมเป็นไม้ระดับกลางในสวน
คุณค่าทางอาหารของหวายอ่อน (100 กรัมสด)
• ความชื้น 81.9%
• เส้นใย 1.13%
• เถ้า 1.62%
• โปรตีน (N x 6.25) 4.12
• คาร์โบไฮเดรต 10.81%
• พลังงาน 63.5 กิโลแคลอรี่
• น้ำตาล 3.22%
• แคลเซียม 161.4 มิลลิกรัม
• แมกนีเซียม 117.68 มิลลิกรัม
• เหล็ก 0.57 มิลลิกรัม
• สังกะสี 4.89 มิลลิกรัม
• วิตามินซี 1.25 มิลลิกรัม
• วิตามินบี1 0.62 มิลลิกรัม
• วิตามินบี2 0.16 มิลลิกรัม
• กรดอะมิโน
– aspartic acid 242.10 มิลลิกรัม
– Threonine 90.2 มิลลิกรัม
– Serine 160.03 มิลลิกรัม
– Proline 292.58 มิลลิกรัม
– Glycine 103.91 มิลลิกรัม
– Alanine 186.46 มิลลิกรัม
– Valine 120.09 มิลลิกรัม
– Cystine 18.28 มิลลิกรัม
– Methionine 32.96 มิลลิกรัม
– Isoleucine 110.64 มิลลิกรัม |