ทำความรู้จัก ส้มตำ ที่สุดของความแซ่บ

ส้มตำมาจากการนำคำสองคำมาผสมกัน คำว่า “ส้ม” มาจากภาษาท้องถิ่นหมายความว่า รสเปรี้ยว ส่วน “ตำ” มีความหมายว่าการใช้สากหรือสิ่งของอื่น ๆ บุบหรือกระแทกลงไป ส้มตำคือการนำผักผลไม้หลากชนิดมาตำในครกดินให้พอบุบ แล้วตำเคล้าเพื่อให้น้ำปรุงรสซึมเข้าไปในเนื้อผักผลไม้ รู้ความหมายของส้มตำกันไปแล้ว มาดูกันดีกว่าว่าสูตรส้มตำแต่ละสูตรนั้นมีแบบไหน และใส่อะไรบ้าง*
 
*หมายเหตุ: การตำส้มตำและเครื่องส้มตำแต่ละแบบไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับรสชาติความชอบของคนรับประทาน
 
คอส้มตำอาจจะคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้าง เพราะจัดเป็นส้มตำที่ใช้เส้นมะกะลอเป็นวัตถุดิบหลักเจอได้ตามร้านส้มตำทั่วไป โดยมีความเผ็ดแซ่บจากพริกสดหรือพริกแห้ง และกระเทียม ได้ความเค็มของน้ำปลาร้าและน้ำปลา เพิ่มรสเปรี้ยวช่วยยั่วต่อมรับรสให้น้ำลายสอด้วยมะนาว มะเขือเทศ ตัดรสเผ็ดด้วยการกินคู่กับผักสด แคบหมู เครื่องเคียงต่าง ๆ
 
ตำลาว
 
 
“ตำลาว” หรือ “ตำหมากหุ่ง” จัดเป็นส้มตำอันดับต้น ๆ ของตระกูลส้มตำ โดยเฉพาะภาคอีสานเรียกว่าเป็นอาหารหลักเลยก็ยังได้ มีมะละกอดิบเป็นวัตถุหลัก เน้นรสชาติเค็มนำ นัวน้ำปลาร้า เพิ่มเติมความกลมกล่อมด้วยผงชูรส ตำลาวจะแตกต่างกันไปตามสูตรของแต่ละท้องถิ่น บ้างก็ใส่มะกอกให้ได้กลิ่นหอม ใส่กระถินเพิ่มความมัน หรือใส่กุ้งฝอยคั่วเพื่อช่วยลดความเผ็ด ยิ่งถ้าเป็นสูตรส้มตำลาวแบบดั้งเดิมจะไม่ใส่น้ำตาลเลยด้วยซ้ำ
 
 
วัตถุดิบส้มตำลาว
 
  • เส้นมะละกอสับ
  • มะเขือเทศ
  • พริกสด (พริกแห้ง เพิ่มความหอม และรสเผ็ดร้อนมากขึ้น)
  • มะนาว
  • กระเทียม
  • มะกอก
  • น้ำปลาร้า
  • น้ำปลา
  • น้ำตาลทราย
  • ผงชูรส
  • เมล็ดกระถิน (สำหรับโรยหน้า)
  • แคบหมู และผักบุ้ง (สำหรับกินแกล้ม)
วิธีทำส้มตำลาว
 
ใส่พริกกับกระเทียมลงในครกตำพอหยาบ จากนั้นฝานมะเขือเทศ มะกอก ตามลงตำให้พอเข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำปลา น้ำตาลทราย ผงชูรส และมะนาว
จากนั้นใส่เส้นมะละกอสับ ตำเคล้าให้เครื่องปรุงทั้งหมดเข้ากันดี ชิมรสชาติและปรุงเพิ่มได้ตามใจชอบ ตักใส่จานโรยด้วยเมล็ดกระถิน เสิร์ฟคู่กับแคบหมู และผักบุ้ง
 
 
 
 
ตำซั่ว
 
ส้มตำปูปลาร้า ที่ใส่เส้นมะละกอเล็กน้อยพอได้เทกซ์เจอร์ เพิ่มความแซ่บด้วยเส้นขนมจีนให้ได้อารมณ์ดูดเส้นเคล้าความนัวของน้ำปลาร้า โดย “ตำซั่ว” นั้นเกิดขึ้นจากการกินขนมจีนเปล่า ๆ คู่กับส้มตำก่อน จากนั้นได้มีการนำเอาเส้นมะละกอมาคลุกเคล้ากับเส้นขนมจีนในครก จึงเกิดความนิยมอย่างมากจนมีการทำขาย ตั้งแต่นั้นจึงรู้จักกันในชื่อของ “ตำซั่ว”
 
วัตถุดิบส้มตำซั่ว
 
  • เส้นมะละกอสับ
  • เส้นขนมจีน
  • มะเขือเทศ
  • พริกสด
  • กระเทียม
  • มะนาว
  • น้ำปลาร้า
  • น้ำปลา
  • น้ำตาลทราย
  • ผงชูรส
  • ปูนา
วิธีทำส้มตำซั่ว
 
ใส่พริกกับกระเทียมลงในครกตำพอหยาบ จากนั้นฝานมะเขือเทศตามลงตำให้พอเข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำปลา น้ำตาลทราย ผงชูรส มะนาว และปูนา
ใส่เส้นมะละกอสับ และขนมจีน ตำเคล้าให้เครื่องปรุงทั้งหมดเข้ากันดี ชิมรสชาติและปรุงเพิ่มได้ตามใจชอบ จากนั้นตักใส่จานเลยจ้า
 
 
 
 
 
ตำปูปลาร้า
 
“ตำปูปลาร้า” จัดว่าฮอตฮิตไม่เคยตกยุค เพราะคนส่วนใหญ่มักจะสั่งเวลาไปร้านอาหารอีสาน นัวคูณสองทั้งใส่ปลาร้า และปูนา เครื่องส้มตำ และรสชาติใกล้เคียงกับส้มตำลาว เพียงแค่ใส่ปูนาเพิ่มเข้าไป
 
วัตถุดิบส้มตำปูปลาร้า
 
  • เส้นมะละกอสับ
  • มะเขือเทศ
  • พริกสด (พริกแห้ง เพิ่มความหอมและรสเผ็ดร้อนมากขึ้น)
  • มะนาว
  • กระเทียม
  • น้ำปลาร้า
  • น้ำปลา
  • น้ำตาลทราย
  • ผงชูรส
  • ปูนา 
วิธีทำส้มตำปูปลาร้า
 
ใส่พริกกับกระเทียมลงในครกตำพอหยาบ จากนั้นฝานมะเขือเทศตามลงตำให้พอเข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำปลา น้ำตาลทราย ผงชูรส มะนาว และปูนา
ใส่เส้นมะละกอสับ ตำเคล้าให้เครื่องปรุงทั้งหมดเข้ากันดี ชิมรสชาติและปรุงเพิ่มได้ตามใจชอบ จากนั้นตักใส่จาน ได้แล้วส้มตำปู ปลาร้า สุดฟินเลยจ้า
 
 
 
ตำแตง
 
“ตำแตง” สูตรอีสานดั้งเดิมจะใช้เป็นแตงไทยอ่อน เพราะมีเนื้อแน่นกรอบได้อารมณ์ในการเคี้ยว แต่ปัจจุบันจะใช้แตงร้านแทนเพราะหาซื้อง่าย มีเนื้อกรอบฉ่ำแต่เนื้อเละง่าย ตำแตงส่วนมากจึงมีน้ำเยอะ ที่สำคัญ “ตำแตง” ไม่ควรพลาดที่จะกินคู่กับไข่ต้ม ยิ่งถ้าเป็นไข่ต้มยางมะตูมล่ะก็ยิ่งฟิน
 
วัตถุดิบส้มตำแตง
 
  • แตงร้านสับ
  • มะเขือเทศ
  • พริกสด (พริกแห้ง เพิ่มความหอมและรสเผ็ดร้อนมากขึ้น)
  • มะนาว
  • กระเทียม
  • น้ำปลาร้า
  • น้ำปลา
  • น้ำตาลทราย
  • ผงชูรส
  • ไข่ต้มหรือไข่ต้มยางมะตูม (สำหรับกินแกล้ม)

 

วิธีทำส้มตำแตง
 
ใส่พริกกับกระเทียมลงในครกตำพอหยาบ จากนั้นฝานมะเขือเทศตามลงตำให้พอเข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา ร้า น้ำปลา น้ำตาลทราย ผงชูรส และมะนาว
ใส่แตงร้านสับ ตำเคล้าให้เครื่องปรุงทั้งหมดเข้ากันดี ชิมรสชาติและปรุงเพิ่มได้ตามใจชอบ จากนั้นตักใส่จาน เสิร์ฟคู่กับไข่ต้มหรือไข่ต้มยางมะตูม
 
 
 
ตำถั่วฝักยาว
 
“ตำถั่วฝักยาว” ภาษาอีสานเรียกว่า “ตำหมากถั่ว” คือส้มตำที่ใช้ถั่วฝักยาวเป็นหนึ่งในเครื่องส้มตำแทนมะละกอดิบ เพราะจะได้รสหวาน กรอบจากถั่วฝักยาว ตามด้วยรสนัวครบรสจากน้ำปลาร้าและเครื่องปรุง “ตำถั่วฝักยาว” มักกินคู่กับปลาย่างเกลือหรือปลาดุกย่างร้อน ๆ ไม่ลองไม่รู้ว่ามันช่างเข้ากันเสียจริง ๆ
 
วัตถุดิบส้มตำถั่วฝักยาว
 
  • ถั่วผักยาวหั่นท่อน
  • มะเขือเทศ
  • พริกสด (พริกแห้ง เพิ่มความหอมและรสเผ็ดร้อนมากขึ้น)
  • มะนาว
  • กระเทียม
  • น้ำปลาร้า
  • น้ำปลา
  • น้ำตาลทราย
  • ผงชูรส
  • ปลาดุกย่าง (สำหรับกินแกล้ม)

 

วิธีทำส้มตำถั่วฝักยาว
 
ใส่พริกกับกระเทียมลงในครกตำพอหยาบ ตามด้วยถั่วผักยาวหั่นท่อนตำให้พอหยาบ ต่อด้วยฝานมะเขือเทศตามลงตำให้พอเข้ากัน
ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำปลา น้ำตาลทราย ผงชูรส และมะนาว ตำเคล้าให้เครื่องปรุงทั้งหมดเข้ากันดี ชิมรสชาติและปรุงเพิ่มได้ตามใจชอบ จากนั้นตักใส่จาน เสิร์ฟคู่กับปลาย่างเกลือหรือปลาดุกย่าง
 
 
 
 
ตำไทย
 
“ตำไทย” ส้มตำจานโปรดสำหรับคนที่ไม่ชอบกลิ่นปลาร้า และความนัวแบบขีดสุด เพราะตำไทยจะไม่ใส่ปู และปลาร้าเลยแม้แต่นิด มีเส้นมะละกอเป็นวัตถุดิบหลัก กรุบกรอบด้วยถั่วผักยาว ใส่กุ้งแห้ง และถั่วลิสงคั่วเพิ่มความมัน มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เค็มตามมาติด ๆ
 
วัตถุดิบส้มตำไทย
 
  • เส้นมะละกอสับ
  • ถั่วฝักยาว
  • มะเขือเทศ
  • พริกสด
  • มะนาว
  • กระเทียม
  • น้ำปลา
  • น้ำตาลปี๊บ
  • กุ้งแห้ง
วิธีทำส้มตำไทย
 
ใส่พริกกับกระเทียมลงในครกตำพอหยาบ จากนั้นฝานมะเขือเทศ ถั่วผักยาวตามลงตำให้พอเข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ และมะนาว
ใส่เส้นมะละกอสับ ตำเคล้าให้เครื่องปรุงทั้งหมดเข้ากันดี ชิมรสชาติและปรุงเพิ่มได้ตามใจชอบ ตักใส่จานโรยด้วยกุ้งแห้งและถั่วลิสง

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่