กาละแม คือขนมไทยโบราณที่มีลักษณะทำมาจากแป้งเหนียวสีดำ เป็นขนมหนึ่งในสามชนิดที่นิยมทำขึ้นในวันปีใหม่ของคนไทยในสมัยก่อน นิยมทำกันในช่วงงานเทศกาลสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จก่อนวันสงกรานต์คือ ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง และกาละแม เพราะการทำขนมเหล่านี้ต้องอาศัยแรงงานคนมาช่วยกันกวนขนม จึงถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทย ช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยมิตรไมตรีเป็นความดีงามในชีวิตภายภาคหน้าสืบต่อไป และเมื่อทำขนมเสร็จแล้วก็จะมีการแบ่งปันขนมกลับไปกินที่บ้านของแต่ละคน ขนมกะละแมเชื่อว่ามีต้นกำเนิดที่มาจากขนมกาลาเม็กของฝรั่งเศส หรือคาราเมลของอังกฤษ หรือเกละไมของชาวมลายู ท่านพุทธทาสภิกขุตั้งข้อเสนอว่าน่าจะมาจากขนมฮูละวะของอินเดียที่มีส่วนผสมเป็นนม แป้ง และน้ำตาล ปัจจุบันกาละแมมีหลากหลายสีและมีรสชาติที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละผู้ผลิต ผู้ผลิตบางรายสรรหาความแปลกใหม่ให้ขนมกาละแมดูเปลี่ยนไปจากเดิมคือมีสีสันที่น่ารับประทานมากขึ้นและเป็นที่ถูกใจของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยแต่ก็ยังมีกาละแมสดหลายที่ ที่ผู้ผลิตยังคงอนุรักษ์ความเป็นไทยเอาไว้ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงรุ่นปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมา
กาละแมรามัญเป็นขนมหวานชนิดหนึ่งของชาวมอญ เหตุที่ชื่อว่ากาละแมรามัญหลายท่านคงสงสัยว่าทำไมต้องรามัญ เพราะรามัญก็แปลว่ามอญนั่นเองค่ะ กาละแมรามัญไม่พบปีพ.ศ.ที่ทำขึ้น เพราะเป็นขนมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่เดิมนั้นกาละแมรามัญจะกวนขึ้นในงานแต่งของคู่บ่าวสาวชาวมอญ เป็นเหมือนสินสอดทองหมั้น
การกวนกาละแมรามัญแบบดั้งเดิม
ต่อมานั้นการกวนกาละแมรามัญก็เริ่มมากวนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะจะมีการทำบุญอุทิศแก่บรรพชนในช่วงสงกรานต์ก็จะมีการกวนกาละแมขึ้นเพื่อเป็นขนมถวายพระสงฆ์และแจกญาติสนิทมิตรสหาย จะกวนในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์คือประมาณวันที่ 1-9 เมษายน ของทุกปี ญาติพี่น้องก็จะมารวมตัวช่วยกันกวนกาละแม การกวนกาละแมรามัญนั้นต้องใช้คนจำนวนมาก ประมาณ 9-10 คน และกวนกระทะนึงต้องใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง จึงต้องมีการร่วมใจสามัคคี ลงแขกช่วยกันกวนแต่ละบ้านๆหมุนเวียนช่วยกันไป
ต่อมาประเพณีการกวนกาละแมในช่วงสงกรานต์เริ่มหายไป ท่านหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดศรัทธาธรรม(วัดมอญ) จึงได้คิดริเริ่มตั้งกลุ่มแม่บ้านรามัญพัฒนาเพื่อคงอนุรักษ์ขนมกาละแมรามัญและเพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนวัดมอญ ขนมกาละแมรามัญจึงได้สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นขนมที่ขึ้นชื่อในจังหวัดสมทรสงครามและเป็นของขวัญของฝากของวัดศรัทธาธรรมอีกด้วย |