RCD, RCBO, RCCB คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนไฟบ้าน

RCD คืออะไร หลายคนอาจกำลังสงสัยโดยเฉพาะผู้ประกอบการหรือเจ้าของบ้านที่กำลังหาซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่เกิดจากการขัดข้องของระบบไฟฟ้า 
 
 
คุณอาจเคยรู้สึกเหมือนโดนไฟฟ้าดูดเมื่อไปสัมผัสกับเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้า ซึ่งการที่คุณรู้สึกเหมือนโดนไฟดูดนั้นเกิดมาจากการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าในเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ คุณจึงต้องการอุปกรณ์เซฟตี้ที่จะมาคอยตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นในวงจรที่อาจนำไปสู่อันตรายและความเสียหายต่าง ๆ บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ RCD กันให้มากขึ้น จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย 
 
เครื่องตัดไฟรั่ว RCD Residual-Current Device คืออะไร
 
RCD คือเครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติที่จะทำหน้าตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลออกมีค่าไม่เท่ากับกระแสไฟฟ้าที่ผ่านเข้ามาในตอนแรก นั่นหมายความว่ามีกระแสไฟฟ้าบางส่วนที่รั่วหายไป ไม่ว่าจะเป็นการรั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดินหรือรั่วผ่านคนที่ไปสัมผัสโดนอุปกรณ์ในขณะที่มีไฟรั่วอยู่ โดย RCD นั้นย่อมาจาก Residual Current Device ที่ช่างไฟหรือคนส่วนใหญ่มักจะเรียกกันว่าเบรกเกอร์กันดูด ส่วนมากมักจะติดตั้งในตู้คอนซูเมอร์ยูนิตในบ้านพักอาศัย และมักจะถูกนำไปใช้งานร่วมกับเซอร์กิตเบรกเกอร์ประเภทอื่น ๆ เช่น เบรกเกอร์ลูกย่อย MCB หรือ เบรกเกอร์ MCCB
 
RCD หรือเครื่องตัดไฟรั่วนั้นยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกด้วยได้แก่ เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือ (RCD, RCBO, RCCB) หรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน (ELCB, GFCI) อย่างไรก็ตาม ประเภทของ RCD ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายนั้นมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน นั่นคือ RCCB (Residual Current Circuit Breakers), RCBO (Residual Current Circuit Breakers with Overload protection) และ ELCB (Earth Leakage Circuit Breaker) 
 
เครื่องตัดไฟรั่ว RCD 1 มีหลักการทำงานอย่างไร
 
สำหรับหลักการทำงานของ RCD นั้น ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากมาย โดยเครื่องจะตรวจวัดค่ากระแสไฟเข้าและไฟฟ้าออกว่ามีค่าเท่ากันหรือไม่ หากมีค่าไม่เท่ากันตามสเปกของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้กำหนดไว้ เบรกเกอร์กันดูดหรือ RCD ก็จะทำหน้าที่ตัดวงจรไฟฟ้าโดยอัตโนมัติในทันที ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นหนึ่งมีค่ากระแสไฟฟ้าเข้าไฟฟ้าออกต่างกันเกิน 30 mA เบรกเกอร์กันดูดก็จะตัดวงจรในทันที โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อธิบายไว้ว่า RCD จะปลดวงจรไฟฟ้าทันทีแม้มีไฟรั่วเพียงเล็กน้อย กล่าวคือเมื่อไฟไม่ไหลกลับไปตามสายไฟฟ้าแต่รั่วลงดินผ่านร่างกายมนุษย์หรือฉนวนไฟฟ้าที่ชำรุดนั่นเอง
 
ประโยชน์ของเครื่องตัดไฟรั่ว RCD 
 
RCD นอกจากจะทำหน้าที่ช่วยตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อมีค่ากระแสไฟฟ้าเข้าออกไม่เท่ากันแล้ว ก็ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย จะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกัน
 
  • เครื่อง RCD คุณภาพสูง ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยปกป้องคุณกันจากอันตรายที่มาจากการโดนไฟฟ้าดูดได้
  • เครื่อง RCD มีไว้เพื่อป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากการที่มีไฟฟ้ารั่วในวงจรไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ไม่มีระบบป้องกันที่ดี
  • เครื่อง RCD ช่วยตรวจสอบว่ามีจุดใดภายในบ้านหรือสำนักงานที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินบ้าง เพื่อทำการแก้ไขและหาสาเหตุต่อไป 

 
เครื่องตัดไฟรั่ว RCD มีกี่แบบ
 
RCD เบรกเกอร์กันดูด หรือเบรกเกอร์กันไฟรั่ว มีอยู่หลายประเภทขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและลักษณะการใช้งาน โดยส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้ 
 
  • เครื่องตัดไฟรั่วชนิดที่สามารถตัดกระแสลัดวงจรได้ หรือ RCBO เครื่องตัดไฟรั่วชนิด RCBO นี้สามารถใช้งานได้โดยอิสระ สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ทั้งกระแสไฟรั่วและกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เพราะ RCBO เป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟดูดที่มีเซอร์กิตเบรกเกอร์อยู่ในตัวนั่นเอง 
  • เครื่องตัดไฟรั่วชนิดที่ไม่สามารถตัดกระแสวงจรลัดวงจรได้ หรือ RCCBสำหรับเครื่องตัดไฟรั่ว RCCB นี้มีหลักการทำงานที่ตรงข้ามกับแบบ RCBO โดยเป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ชนิดหนึ่งที่จะช่วยตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อเกิดการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าในระบบแต่จะไม่สามารถตัดกระแสลัดวงจรได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ RCCB จะมี 2 ขนาดด้วยกัน นั่นคือขนาด 2 Pole เหมาะสำหรับการใช้งานในระบบไฟฟ้า 1 เฟส และขนาด 4 Pole สำหรับไฟ 3 เฟส และในการทำงานนั้น ๆ RCCB มักจะใช้ควบคู่กับเบรกเกอร์ MCB และเบรกเกอร์ MCCB 
  •  
RCD และ  RCBO แตกต่างกันอย่างไร
 
ที่จริงแล้ว RCBO (Residual Current Circuit Breakers with Overload protection) นั้นเป็นประเภทหนึ่งของเครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ RCD โดยทำหน้าที่ตัดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติแบบมีอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินนั่นเอง เบรกเกอร์กันดูด RCBO นั้นมีขนาดเล็กพิเศษ ทำให้ง่ายต่อการเปลี่ยนหรือปรับปรุงตู้คอนซูเมอร์ยูนิต
 
เครื่องตัดไฟรั่ว  RCD ที่ดีเป็นแบบไหน
 
การเลือกซื้อเครื่องตัดไฟรั่ว RCD ที่ดี
 
RCCB
  • เลือกซื้อยี่ห้อที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐาน อย่างอุปกรณ์ RCCB (Residual Current Circuit Breakers with Overload protection) ต้องผ่านมาตรฐาน มอก. 2425-2552 และ IEC 61008
  • ควรติดตั้งควบคู่กับฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์เพื่อความปลอดภัยที่มากยิ่งขึ้น

RCBO

  • เบรกเกอร์ RCBO (Residual Current Circuit Breaker with Over Current Protection) ควรจะต้องผ่านมาตรฐาน มอก. 909-2548 และ IEC 61009
  • สามารถติดตั้งตู้ในคอนซูเมอร์ยูนิตได้โดยไม่ต้องติดตั้งฟิวส์เพิ่มเติมได้

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่