สุริยุปราคา กับ ตำนานความเชื่อ

สุริยุปราคา กับตำนานความเชื่อ
 
ตำนานความเชื่อเรื่อง สุริยุปราคา ในอดีตมนุษย์นึกถึงสัญญาณของลางร้าย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระอาทิตย์ คือดวงกลมๆ ค่อยๆ แหว่งราวกับถูกสัตว์ร้ายกัดกิน เป็นความเชื่อที่ ทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน คอลัมน์ซันเดย์ สเปเชียล หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เคยเขียนรายงานไว้เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2560 โดยสรุปตำนานความเชื่อสุริยุปราคาในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศ ต่างมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เช่น
 
 
ประเทศไทย
 
เชื่อว่าปรากฏการณ์นี้คือพระราหูอมพระอาทิตย์ หรือพระจันทร์ เพื่อแก้แค้นที่ราหูถูกจับได้ ตอนปลอมตัวไปร่วมกินน้ำทิพย์ ที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร และถูกพระนารายณ์ขว้างจักรใส่จนตัวเหลือครึ่งท่อน ตั้งแต่ในอดีตเมื่อเกิดสุริยุปราคา จึงมีการช่วยกันตีเกราะเคาะไม้ ส่งเสียงดังก็เพื่อขับไล่ “ราหู” ให้คายดวงอาทิตย์ออกมานั่นเอง
 
ประเทศจีน
 
เชื่อว่าสัตว์ที่เขมือบดวงอาทิตย์นั้นคือ “มังกร” หรือบางตำนานก็บอกว่าเป็น “สุนัข” จากสวรรค์ นอกจากนั้นแล้ว คำว่า “สุริยุปราคา” ในภาษาจีนกลางยังเขียนโดยใช้อักษรคำว่า “วัน” ประกอบกับคำที่มีรากศัพท์เกี่ยวกับการ “กิน” สื่อว่าสุริยุปราคานั้นคือ การที่ดวงอาทิตย์กำลังจะถูกกลืนกิน
 
ประเทศเวียดนาม
 
เชื่อว่าสัตว์ที่มาเขมือบดวงอาทิตย์คือ กบ
 
ประเทศเปรู
เชื่อว่า “เสือพูม่า” มากลืนกินดวงอาทิตย์
 
 
ชาวนอร์ส (Norse) ในแถบสแกนดิเนเวีย
เชื่อว่าสุริยุปราคาเกิดจากหมาป่าสองตัววิ่งไล่จับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ข้ามท้องฟ้า วันที่จับได้สำเร็จ คือวันที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา หรือจันทรุปราคา
 
 
สุริยุปราคา กับความจริงทางวิทยาศาสตร์
 
สุริยุปราคา หรือสุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์มีดิถีตรงกับจันทร์ดับ เมื่อสังเกตจากพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ โดยอาจบังมิดหมดทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้
 
ในแต่ละปีสามารถเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง ในจำนวนนี้อาจไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวงเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน 2 ครั้ง
 
อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงสำหรับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งบนพื้นโลกนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากสุริยุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งจะเกิดในบริเวณแคบๆ ภายในแถบที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านเท่านั้น
 
ทั้งนี้ สุริยุปราคามี 4 ชนิด ได้แก่
 
  • สุริยุปราคาเต็มดวง (total eclipse): ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง
  • สุริยุปราคาบางส่วน (partial eclipse) : มีเพียงบางส่วนของดวงอาทิตย์เท่านั้นที่ถูกบัง
  • สุริยุปราคาวงแหวน (annular eclipse) : ดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นวงแหวน เกิดเมื่อดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลจากโลก ดวงจันทร์จึงปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์
  • สุริยุปราคาผสม (hybrid eclipse) : ความโค้งของโลกทำให้สุริยุปราคาคราวเดียวกันกลายเป็นแบบผสมได้ คือ บางส่วนของแนวคราสเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง ที่เหลือเห็น
สำหรับวันที่ 20 เมษายน 2566 นี้ จะมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 10.22-11.43 น. เป็นสุริยุปราคาแบบผสม เป็นสุริยุปราคาที่เกิดขึ้น 2 ประเภทในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน และสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง
 
ในช่วงที่เกิดสุริยุปราคา คราสบังมากสุดทางภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส เพียงร้อยละ 4 และสังเกตได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น ได้แก่ 9 จังหวัดในภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่) และบางส่วนของจังหวัดตราด อุบลราชธานี และศรีสะเกษ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน และการเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1 นาที 16 วินาที
 
 
วิธีดูสุริยุปราคาให้ปลอดภัย
 
  • หากไม่มั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้ดูสุริยุปราคานั้นปลอดภัยหรือไม่ ก็ไม่ควรดูเพราะจะส่งผลเสียต่อดวงตาได้
  • ใช้แว่นสุริยะ แว่นสุริยะของสมาคมดาราศาสตร์ไทยออกแบบมาเพื่อใช้ดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ
  • ฟิล์มเอกซเรย์ซ้อนกันหลายๆ ชั้น ใช้เฉพาะบริเวณที่ไม่มีภาพเท่านั้น
  • หน้ากากเชื่อมโลหะ ใช้เบอร์ 14 ขึ้นไป
  • ใช้กล้องโทรทรรศน์ฉายภาพไปยังฉากรับ ห้ามมองเข้าไปในกล้องโดยตรงเด็ดขาด
  • กระดาษเจาะรูบนกระจก - เจาะรูบนกระดาษเป็นรูเล็กๆ แล้วปิดทับกระจกเงา สะท้อนแสงอาทิตย์ไปยังฉากรับ (ระวังแสงสะท้อนเข้าตา)
  • ดูใต้ต้นไม้ - ต้นไม้ทำตัวเป็นกล้องรูเข็มให้ จะฉายภาพดวงอาทิตย์แหว่งๆ ลงพื้น แถมดูใต้ต้นไม้ ก็เย็นสบายไม่ร้อนด้วย
  • ดูรูปที่คนอื่นถ่าย
สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้เตือนผู้ที่ต้องการดูสุริยุปราคาว่าห้ามดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า หรือผ่านอุปกรณ์ที่ไม่มีความปลอดภัย เช่น แผ่นซีดี กระจกรมควัน ฟิล์มถ่ายรูป ฯลฯ หากไม่มั่นใจว่าอุปกรณ์นั้นปลอดภัยหรือไม่ ก็ไม่ควรดูเพราะจะส่งผลเสียต่อดวงตาได้
 
สำหรับผู้สังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ใช้ฟิล์มปิดหน้ากล้องโทรทรรศน์ ห้ามปิดตรงเลนส์ใกล้ตา เพราะตรงนั้นแสงจะถูกรวมโดยเลนส์มาแล้ว อาจทำให้ฟิล์มไหม้ได้
 
กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ควรใช้ฟิล์มปิดหน้ากล้องเท่านั้น ไม่ควรใช้สะท้อนแสงลงฉาก เพราะแสงที่รวมจากกระจกโค้งมีความร้อนสูง อาจทำให้กระจกหน้ากล้องเสียหายได้
 
อ้างอิงข้อมูล: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT), สมาคมดาราศาสตร์ไทย

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่