ทำความรู้จัก ฉนวนกาซา พื้นที่แห่งความขัดแย้ง

ฉนวนกาซา เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคตะวันออกกลาง สิ่งที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักพื้นที่แห่งนี้คือการเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งและสู้รบกันระหว่าง 2 ประเทศ คือ อิสราเอลและปาเลสไตน์ เรามาทำความรู้จัก ฉนวนกาซา ให้ลึกซึ้งขึ้นด้วยบทความนี้
 
 
ฉนวนกาซา คืออะไร
 
ฉนวนกาซา เป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่มีขนาดเพียงแค่ 365 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าจังหวัดที่มีพื้นที่น้อยที่สุดของไทยอย่างสมุทรสงคราม ที่มีขนาด 416 ตารางกิโลเมตร โดยฉนวนกาซามีอาณาเขตทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับอียิปต์ ทางเหนือและตะวันออกติดกับประเทศอิสราเอล และทางตะวันตกติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มาของชื่อ ‘ฉนวนกาซา’ เพราะเป็นเขตแดนที่ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกในปี 2491 หรือ 75 ปีก่อน ให้เป็นเสมือนเขตกันชนระหว่างคู่อริทั้ง 2 ฝ่าย
 
ถึงแม้ฉนวนกาซาจะเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ก็ได้ชื่อว่ามีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่มีมากถึง 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 75 เป็นผู้หญิงและเด็ก ประชากรในฉนวนกาซาถึง 3 ใน 4 เป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ที่สหประชาชาติจัดไว้ให้ ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาตั้งแต่หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกในปี 2491
 
จุดเริ่มต้นความขัดแย้งในฉนวนกาซา
 
หลังปี 2491 ฉนวนกาซาถูกปกครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ก็ไม่ได้ผนวกรวมเอาดินแดนส่วนนี้เป็นของตน จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงครามหกวัน ในปี 2510 ซึ่งอิสราเอลสามารถยึดครองดินแดนของอาหรับได้จำนวนมาก ทำให้ฉนวนกาซาเป็นหนึ่งในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง อย่างไรก็ตาม อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันในปี 2536 โดยส่วนหนึ่งในข้อตกลงนั้น คือ การอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเองอย่างจำกัดในเขตฉนวนกาซา
 
 
ต่อมาในปี 2548 อิสราเอลจึงได้ดำเนินการถอนทหารและนิคมชาวยิวที่ผิดกฎหมาย ออกจากฉนวนกาซาทั้งหมด จากนั้นเมื่อฮามาสชนะการเลือกตั้งปี 2549 ฉนวนกาซาจึงเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลฮามาสจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
 
สำหรับต้นเหตุความขัดแย้งในฉนวนกาซามาจากความเชื่อทางศาสนาของยูดาย (ชาวยิว) และอิสลาม โดยเชื่อว่าดินแดนที่เป็นที่ตั้งของอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่เชื่อมต่อกันในปัจจุบันนั้น เป็นดินแดนของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงสัญญาไว้
 
การเข้ามายึดดินแดนของยุโรปเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดการลี้ภัยของชาวยิว และเกิดการคัดค้านจากชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ เพราะมองว่าดินแดนแห่งนี้ไม่ใช่ของชาวยิว ทำให้รัฐยิวที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ หรืออิสราเอลในปัจจุบันนั้น ต้องมีปัญหากับชาวอาหรับหลายครั้ง
 
จากสงครามเมื่อปี 2510 ทำให้อิสราเอลได้เข้าไปมีบทบาทในการควบคุมดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน หรือที่เรียกกันว่าเวสต์แบงก์ (West Bank) และฉนวนกาซา ซึ่งติดกับชายแดนประเทศอียิปต์ การเข้าไปควบคุมพื้นที่นี้ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ไม่เห็นชอบ จึงเกิดกลุ่มที่มีแนวคิดหัวรุนแรง หันไปจับอาวุธ และกลุ่มติดอาวุธฮามาสเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมในอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา
 
ทำให้ชนวนเหตุการปะทะรุนแรงในรอบนี้ ยังคงเป็นความขัดแย้งที่มีมายาวนานนับร้อยปีที่เรียกว่า “การแก้แค้น”
 
ข้อมูลอ้างอิง : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมประชาสัมพันธ์

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่