แอปหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ที่คนใช้รถ EV ต้องโหลดไว้ติดมือถือ

1. EV Station PluZ
 
 
EV Station Pluz เป็นแอปพลิเคชันสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในเครือ ปตท. ตอบโจทย์ความต้องการของคนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และรถปลั๊กอินไฮบริดแบบสุด ๆ เนื่องจากสามารถเช็กสถานะขณะชาร์จได้แบบเรียลไทม์ แถมยังสามารถเช็กความพร้อมของจุดชาร์จรถไฟฟ้าที่ต้องเข้าใช้บริการได้อีกด้วย
 
 
2. EA Anywhere
 
 
แอปฯ หาสถานีชาร์จรถไฟฟ้าจากผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ และรถไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขต กทม. นอกจากจะช่วยค้นหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้าได้แล้ว ยังช่วย “นำทาง” มายังสถานีชาร์จรถไฟฟ้าได้อีกด้วย
 
 
3. MEA EV
 
 
แอปพลิเคชันที่แสนจะครบเครื่อง ไม่ว่าจะจอง ค้นหา หรือชาร์จไฟก็สามารถทำได้ครบ จบภายในแอปเดียว ซึ่งเป็นแอปฯ ของการไฟฟ้านครหลวง สามารถค้นหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกชนิดได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีระบบอัจฉริยะที่ช่วยวางแผน คำนวณเส้นทาง พร้อมกับบอกจุดแวะพักระหว่างทาง ที่สำคัญรองรับทั้งระบบชาร์จ DC และ AC อีกด้วย
 
 
4. PEA VOLTA
 
 
อีกหนึ่งแอปพลิเคชันค้นหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้า จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาพร้อมกับฟังก์ชันแสดงตำแหน่งสถานีที่อยู่ใกล้คุณ พร้อมกับแสดงแผนที่และนำทางด้วย GPS เพื่อให้คุณเดินทางเข้าใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว แถมยังสามารถจองคิวชาร์จล่วงหน้าได้อีกด้วย
 
 
5. EVolt
 
 
แอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้คุณมากยิ่งขึ้น ซึ่งคุณสามารถสถานีไหนที่อยู่ใกล้คุณพร้อมให้บริการบ้าง นอกจากนี้ยังสามารถที่จะเริ่มและหยุดการชาร์จผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วยล่ะ
 
 
ความแตกต่างระหว่าง DC Charge และ AC Charge
 
 
จากคำอธิบายของแอปพลิเคชันค้นหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ที่เราบอกต่อคุณไปเมื่อสักครู่ โดยเฉพาะในส่วนของแอปฯ MEA EV ที่บอกว่า “รองรับทั้งระบบชาร์จ DC และ AC” คงจะทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าสองตัวย่อนี้คืออะไร มีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งเราก็ไม่ปล่อยให้คุณจมอยู่กับความสงสัยเป็นเวลานาน ได้ทำการรวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ มาให้คุณหมดแล้ว 
 
 
DC Charge
 
หรือที่สาวกรถยนต์ไฟฟ้าคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในชื่อว่า Quick Charge เป็นการชาร์จไฟแบบรวดเร็ว ด้วยการจ่ายไฟฟ้า กระแสตรง ตามปกติจะใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 0% ไปจนถึง 80% ภายในระยะเวลาเพียง 60 นาทีเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ภายในรถยนต์แต่ละรุ่น)
 
ข้อดี: ชาร์จไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับการเดินทางไกลที่ต้องลดระยะเวลาในการชาร์จให้สั้นลง (แต่ก็แลกมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง โดยมีราคาอยู่ที่หน่วยละ 7.7 บาท และสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในประเทศไทยก็ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร)
 
 
AC Charge
 
คือ การชาร์จไฟแบบธรรมดา ด้วยการจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ใช้เวลาในการชาร์จแต่ละครั้งค่อนข้างนาน หากจับเวลาชาร์จตั้งแต่เริ่มต้นจนเต็ม จะใช้เวลาร่วม 7-10 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความจุและอัตราการจ่ายกระแสไฟของเครื่องนั้น ๆ
 
ข้อดี: ติดตั้งได้ที่บ้าน รองรับการชาร์จสูงสุด 22kW (ขึ้นอยู่กับระบบไฟฟ้าของแต่ละบ้าน) นอกจากนี้ยังสามารถชาร์จได้กับรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น ในส่วนของค่าไฟก็ค่อนข้างถูก ชาร์จทั้งคืนก็ไม่มีหวั่น

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่