1. บุหลันดั้นเมฆ
หนึ่งในขนมชาววังหาทานยาก เป็นขนมสีฟ้าจากดอกอัญชันและตรงกลางเป็นสีเหลืองทำจากไข่แดง ซึ่งนอกจากจะมีรสชาติหวานหนึบอร่อยละมุนลิ้น ในสมัยก่อนบุหลันดั้นเมฆมักจะใช้เป็นขนมเสี่ยงทายเกี่ยวกับการงาน โดยหากใครทำขนมบุหลันดั้นเมฆแล้วหยอดสีเหลืองตรงกลาง เมื่อนึ่งออกมาแล้วมีรูปทรงคล้ายดวงจันทร์แสดงว่าจะมีโชคดีเกี่ยวกับการงาน แต่หากนึ่งออกมาแล้วรูปทรงไม่สวยแสดงว่าจะโชคไม่ดี
สูตรลับในการทำบุหลันดั้นเมฆให้อร่อย
1. นึ่งถ้วยตะไลเปล่าก่อนใส่ขนม
นำถ้วยตะไลเปล่าที่ยังไม่ใส่ขนมไปนึ่งในลังถึงก่อน เพื่อให้ไอน้ำที่ลอยขึ้นมาเคลือบถ้วยตะไลไว้จะทำให้ขนมไม่ติดถ้วย และที่สำคัญที่สุดเมื่อเทแป้งลงไปในถ้วยตะไลร้อนที่ผ่านการนึ่งแล้ว บริเวณแป้งรอบนอกจะเริ่มสุกก่อนแล้วแป้งจะดูดน้ำเข้าไป แล้วส่วนอื่นๆ จึงจะสุกตามไปด้วย นั่นจะทำให้ขนมบุหลันดั้นเมฆมีรอยบุ๋มตรงกลางเพื่อให้ใส่ไข่แดงสีเหลืองตามลงไปได้อย่างพอดี
2. รอให้เย็นก่อนค่อยแกะขนมออกจากถ้วยตะไล
เมื่อนึ่งขนมบุหลันดั้นเมฆสุกแล้วให้นำขนมทั้งถ้วยมาแช่ในน้ําเย็นไว้ เพราะจะทำให้แคะขนมออกจากถ้วยได้ง่ายกว่าตอนถ้วยร้อนๆ และจะทำให้ขนมไม่ติดถ้วยตะไล
2. ขนมพระพาย
ขนมพระพายเป็นอีกหนึ่งขนมชาววังโบราณที่หาทานยากมาก เป็นขนมชาววังที่ทำไส้จากถั่วกวน และห่อตัวแป้งด้วยแป้งข้าวเหนียวที่จะให้ความเหนียวนุ่ม ตัดความหวานด้วยน้ำกะทิที่ให้รสชาติเค็มและมัน ทำให้ได้รสชาติอร่อยแบบลงตัว
ซึ่งในสมัยก่อนขนมพระพายเป็นขนมมงคลที่นิยมใช้ในงานแต่งงานเท่านั้น เพราะด้วยความเหนียวนุ่มของขนมทำให้เปรียบเหมือนกับเป็นความรักที่เหนียวแน่นของความรักจากเจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่นเองค่ะ
สูตรลับในการทำขนมพระพายให้อร่อย
1. แช่ถั่วเขียวในน้ำร้อน หรือแช่ค้างคืนทำให้ถั่วเขียวนิ่มขึ้น
ถั่วเขียวเป็นหนึ่งในส่วนผสมหลักของไส้ถั่วกวนขนมพระพาย ดังนั้นแล้วแนะนำว่าให้นำถั่วเขียวแบบเลาะเปลือกแล้วแช่ในน้ำร้อนประมาณ 2-3 ชั่วโมง จนกว่าจะรู้สึกว่าถั่วเขียวนิ่มขึ้น หรือแช่ในน้ำเปล่าอุณหภูมิห้องทิ้งไว้ 1 คืนก่อนที่จะนำไปนึ่ง
2. แป้งตรงกลางต้องหนากว่าขอบแป้ง เพื่อให้ได้ขนมทรงกลมสวย
ขั้นตอนการนำตัวแป้ง และไส้ถั่วกวนมาปั้นประกอบกัน ให้แผ่แป้งออกโดยให้แป้งบริเวณตรงกลางแป้งจะต้องมีความหนามากกว่าขอบแป้ง เพื่อให้ตัวแป้งสามารถอุ้มตัวไส้ไว้ได้อย่างดีและจะทำให้ปั้นได้ก้อนกลมสวย
3. ขนมเบื้อง
ขนมเบื้องเป็นขนมชาววังที่ในสมัยนี้ยังได้รับความนิยม และหาทานได้ง่าย ในสมัยก่อนความท้าทายของขนมเบื้องคือการละเลงแป้ง เพราะถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ขนมเบื้องออกมาหน้าตาน่ารับประทาน และสวยงาม โดยขนมเบื้องมีทั้งไส้หวาน และไส้เค็ม
สูตรลับในการทำขนมเบื้องให้อร่อย
1. ขนมเบื้องกรอบอร่อยด้วยน้ำปูนใส
หลังจากใส่ส่วนผสมทำแป้งอื่นๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว แล้วให้เปิดเครื่องตีแป้งด้วยความเร็วที่ต่ำสุด และทยอยเทน้ำปูนใสลงไปทีละนิด เมื่อใส่หมดจึงค่อยปรับเป็นความเร็วสูงสุดเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน ซึ่งน้ำปูนใสจะช่วยให้ขนมเบื้องของเรากรอบอร่อย และกรอบได้นาน
2. อยากทานขนมเบื้องละเลงแป้งด้วยไฟกลางจะทำให้ได้แป้งทรง
ละเลงแป้งลงบนเตา หรือกระทะด้วยไฟปานกลาง ขนมเบื้องที่ทรงสวยควรจะต้องเป็นรูปวงรีที่มีความยาวประมาณ 9 นิ้ว
3. ทาครีมเสร็จให้รีบโรยไส้
หลายคนอาจจะเคยมีปัญหาตัวไส้ขนมเบื้องทั้งหวาน และเค็มมักจะหลุดออกมาจากขนมเบื้อง สูตรลับของเราคือเมื่อละเลงครีมลงบนแป้งแล้วให้รีบโรยไส้ทันที เพราะตัวครีมมีความเหนียวที่จะช่วยทำให้ไส้ยึดติดกันได้ดี
4. วุ้นกะทิ
หากพูดถึงขนมชาววังคงจะไม่มีวุ้นกะทิคงไม่ได้ เพราะเป็นขนมชาววังที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยรสชาติที่อร่อย และสามารถดัดแปลงปรับเปลี่ยนทำเป็นวุ้นได้อีกหลายรูปแบบ รวมถึงมีขั้นตอนวิธีการทำที่ไม่ยาก ใช้วัตถุดิบไม่เยอะ สามารถทำทานเองได้ไม่ยาก ไปจนถึงทำขายก็เป็นขนมชาววังที่ขายได้ดี
สูตรลับในการทำวุ้นกะทิให้อร่อย
1. แช่ผงวุ้นก่อนนำไปต้ม เพื่อให้วุ้นไม่คายน้ำ
ปัญหาวุ้นคายน้ำหรือหลังทำเสร็จมีน้ำออกมาจากตัววุ้นทำให้ดูไม่น่าทาน สูตรลับคือจะต้องแช่ผงวุ้นทิ้งไว้ในน้ำประมาณ 10-15 นาทีเพื่อให้วุ้นอิ่มน้ำ ก่อนที่เราจะนำไปต้มในขั้นตอนถัดไป
2. เช็คผงวุ้นให้ดีว่าผงวุ้นละลายหมด
เมื่อนำวุ้นไปต้มด้วยไฟกลาง ก่อนยกลงจากเตาควรใช้ทัพพีเช็คว่ามีผงวุ้นติดขึ้นมาตามทัพพีหรือไม่ หากไม่มีเศษผงวุ้นติดขึ้นมาตามทัพพีแสดงว่าผงวุ้นของเราละลายดีแล้ว เพราะหากผงวุ้นละลายไม่หมดจะทำให้วุ้นของเราได้หน้าไม่เนียนสวย และเมื่อทานอาจจะสัมผัสได้ถึงความสากจากผงวุ้น
5. ลูกชุบ
ขนมชาววังขนานแท้อย่าง “ขนมลูกชุบ” ที่ในปัจจุบันยังเป็นขนมที่ยังได้รับความนิยม หาทานง่าย มีรสชาติอร่อยถูกปาก และมีหน้าตาที่น่ารับประทาน แม้ในปัจจุบันจะมีการปรับเปลี่ยนรูปทรงของขนมบ้างตามความสร้างสรรค์ของคนทำเพื่อให้ดูตามยุคสมัย และช่วยดึงดูดให้คนอยากรับประทานมากขึ้น แต่เชื่อว่าขนมลูกชุบก็ยังมีรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์อยู่ทุกสมัยแน่นอน
ลูกชุบเป็นขนมชาววังสมัยก่อนที่มีวัตถุดิบหลักดั้งเดิมเป็นอัลมอนด์ แต่เพื่อให้เข้ากับประเทศไทยให้หาวัตถุดิบได้ง่ายขึ้นจึงปรับมาเป็นถั่วเขียวแทน โดยลูกชุบจะมีขั้นตอนการทำ 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนการทำไส้ถั่วกวน และขั้นตอนการทำตัววุ้นลูกชุบที่ทำได้ง่าย แต่ต้องมีสูตรลับถึงจะทำออกมาได้อร่อยค่ะ
วิธีการทำลูกชุบ ขนมชาววัง
ส่วนผสม : ทำไส้ถั่วกวน
นำถั่วเขียวเลาะเปือกล้างทำความสะอาดจนกว่าสีของน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีใสสะอาด แช่ถั่วเขียวเลาะเปลือกกับน้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง จนถั่วเขียวอิ่มน้ำ เพื่อให้ถั่วเขียวนิ่มขึ้น
นำถั่วเขียวที่แช่จนนิ่มแล้วไปล้างทำความสะอาด และนำไปใส่ในหม้อนึ่ง โดยเว้นรูตรงกลางเพื่อให้มีรูระบายอากาศออก นึ่งนานประมาณ 15-20 นาที ด้วยไฟกลางจนกระทั่งถั่วเขียวสุก นำถั่วเขียวนึ่งสุกที่นิ่มแล้วไปปั่น โดยให้แบ่งปันหลายๆ รอบ เพื่อให้ถั่วกวนละเอียด ตามด้วยใส่น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง และเกลือป่น 1/4 ช้อนชา หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง พร้อมกับปั่นส่วนผสมทั้งหมด ให้เข้ากันอย่างละเอียด เมื่อไส้ละเอียดเนียนจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ให้เทส่วนผสมทั้งหมดลงในกะทะด้วยไฟอ่อนๆ และหมั่นกวนไส้เรื่อยๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง จนรู้สึกว่าเนื้อเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อกวนจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ให้ใช้ไม้พายยีๆ ตัวไส้ถั่วกวน เพื่อให้ระบายความร้อนได้เร็วขึ้น
สูตรลับทำไส้ถั่วกวนให้ได้ตามฉบับขนมชาววัง
1. นึ่งถั่วเขียวต้องใช้ผ้าขาวบางรองเสมอ
ใช้ผ้าขาวบางรองถั่วเขียวไว้ก่อนที่จะวางลงในหม้อนึ่ง เพื่อไม่ให้เมล็ดถั่วเขียวร่วงไปตามร่องในหม้อ และจะทำให้หลังจากนึ่งเสร็จแล้ว สามารถนำออกมาได้ง่ายขึ้นด้วย
2. ถั่วเขียวต้องนิ่มทานง่าย
หากต้องการให้ไส้ถั่วกวนออกมานุ่มอร่อย หากแช่ถั่วเขียวไว้นาน 3 ชม. อาจจะยังนิ่มไม่เพียงพอ แนะนำให้แช่เพิ่มต่อได้
3. กวนไส้ให้แห้ง เนียนไปเนื้อเดียวกัน
เมื่อกวนไส้ แนะนำให้ใช้ไฟอ่อน ไม่ใช้ไฟแรง เพราะจะทำให้ถั่วกวนเนื้อหยาบเกินไป และเนื้อเนียนไม่สม่ำเสมอ
ส่วนผสม : ตัววุ้นลูกชุบ
ผงวุ้นตรานางเงือก
น้ำเปล่า
น้ำตาลทราย 1 / 2 ถ้วยตวง
สีผสมอาหาร
กลิ่นมะลิ 1/ 2 ช้อนชา
ขั้นตอนการทำ
1. ใส่ผงวุ้นจำนวน 2 ช้อนชา ลงแช่ในน้ำเปล่าประมาณ 10 นาที เพื่อให้วุ้นอิ่มน้ำ
2. หลังจากนั้นให้ตั้งหม้อต้มน้ำ โดยใส่น้ำเปล่าประมาณ 2 ถ้วยตวง ตามด้วยผงวุ้นที่แช่จนอิ่มน้ำแล้ว และใส่น้ำตาลทรายประมาณ 1/2 ถ้วยตวงตามลงไป
3. ใช้ไฟกลางเคี่ยวจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันประมาณ 15 นาที และเพื่อไม่ให้วุ้นจับตัวเป็นก้อน แนะนำให้เคี่ยวไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอในทิศทางเดียวกัน จนกระทั่งน้ำเดือดจึงคนต่ออีกประมาณ 2-3 นาที พร้อมเช็คว่าผงวุ้นของเราละลายดีหรือยัง ด้วยกระบวย หรือทัพพีที่ใช้คนว่าไม่มีผงติดขึ้นมา และเมื่อผงวุ้นละลายดีแล้วให้ปิดไฟ
4. พักวุ้นทิ้งไว้ให้เย็นลงประมาณ 5 นาที เพื่อให้วุ้นเซ็ตตัว
ขั้นตอนปั้นลูกชุบ
1. หลังจากไส้ถั่วกวนเย็นแล้ว ให้นำไส้ถั่วกวนมานวดด้วยมือเพื่อให้ไส้มีเนื้อเนียน และนุ่มขึ้น
2. ใช้สีผสมอาหาร 1 ฝาต่อน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความชอบเข้มอ่อนของสี
3. มาเริ่มปั้นลูกชุบ โดยแบ่งลูกชุบเป็นก้อนๆ สามารถปั้นรูปได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะรูปผัก ผลไม้ สัตว์ หรือรูปอื่นๆ ตามไอเดียได้เลย
4. เมื่อปั้นเสร็จเสียบไม้ปลายแหลม แล้วให้นำไปจุ่มสีผสมอาหาร
สูตรลับเพิ่มความน่ากินให้ลูกชุบ
เพิ่มความหอมหวาน ยิ่งน่าทานมากขึ้น
แนะนำให้ใส่กลิ่นผสมอาหารกลิ่นมะลิลงไปในขั้นตอนเคี่ยวส่วนผสมของตัววุ้นลูกชุบ
ลูกชุบปั้นทรงสวย ไม่ติดมือ
หากอยากปั้นลูกชุบให้ได้รูปทรงที่สวย แนะนำให้ใช้น้ำมันพืชทามือเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ไส้ถั่วกวนติดมือ และไส้จะนิ่มขึ้น ทำให้ปั้นได้รูปทรงสวยง่ายขึ้น
6. อินทนิล
ขนมอินทนิลเป็นขนมชาววังที่ทำจากแป้งผสมกับความหอมที่ได้จากน้ำใบเตย และนำไปกวนจนเหนียว และปั้นเป็นก้อน พร้อมกับนำมาทานคู่กับน้ำกะทิที่เพิ่มความหอมจากการอบควันเทียน ก่อนจะตบท้ายด้วยน้ำแข็งที่ช่วยเพิ่มความอร่อยให้เย็นสดชื่น
เมื่อทานจะให้รสชาติเหนียวนุ่ม หวานตัดเค็มแบบลงตัว และความหอมจากใบเตยกับกะทิอบควันเทียนนปัจจุบันอาจจะหาทานได้ยากสักหน่อย แต่รับรองว่าเป็นอีกหนึ่งขนมชาววังที่ห้ามพลาดเพราะมีรสชาติละมุนกลมกล่อมให้ความสดชื่นแน่นอน
สูตรลับในการทำขนมอินทนิลให้อร่อย
กลิ่นหอมมะลิอบควันเทียน ช่วยเพิ่มความอร่อย
ในขั้นตอนการทำน้ำกะทิ นอกจากน้ำลอยดอกมะลิ และใบเตยจะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมแล้ว ให้นำกะทิมาอบควันเทียน โดยอบควันเทียนประมาณ 3-4 รอบ รอบละประมาณ 20 นาที หรือหากใครอยากให้กะทิหอมฟุ้งอบอวลมากยิ่งขึ้นก็สามารถอบเพิ่มได้อีก เพราะจะยิ่งช่วยทำให้ขนมของเราน่าทานมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ
7. ทองเอก
ขนมสีเหลืองสวยที่ด้านบนมาพร้อมกับทองคำเปลวที่ทองอร่าม แค่เห็นหน้าตาภายนอกก็ดูสวยน่ารับประทานมากแล้วกับ “ขนมทองเอก” เป็นขนมชาววังโบราณที่ในปัจจุบันยังหาทานได้ง่าย มักนิยมใช้ในงานมงคลต่างๆ เพราะทั้งชื่อ รูปทรง หน้าตาสวยงามของขนมนั้นมีความหมายดี นั่นคือหมายถึงการเป็นเอก หรือเป็นที่หนึ่ง
สูตรลับในการทำทองเอกให้อร่อย
1. ทำอย่างใจเย็น ไม่อย่างนั้นไข่อาจสุกได้
ขนมทองเอกเป็นขนมที่ใช้ไข่แดงในการทำ ดังนั้นแล้วในขั้นตอนการนำกะทิที่ยกลงจากเตามาผสมกับไข่จะต้องรอให้กะทิอุ่นไปจนถึงเกือบเย็น และค่อยๆ ใส่ไข่ทีละฟองพร้อมคนให้เข้ากับกะทิด้วยความใจเย็นค่อยๆ ทำ เพราะหากใช้กะทิที่ยังร้อน และเทไข่ใส่แบบรวดเดียวอาจจะทำให้ไข่สุกได้
2. ใช้แป้งเย็นสนิทถึงจะขึ้นลายได้สวย
ความน่าทานของขนมทองเอกคือมีหน้าตาสวยงามจากการใช้พิมพ์ลายสวย ดังนั้นแล้วจึงถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก สูตรลับของเราคือจะต้องรอให้แป้งเย็นสนิทก่อนที่จะอัดลงไปในพิมพ์ ด้วยตัวแป้งที่ปริมาณพอดีไม่อัดแน่นจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้ล้นขอบออกมา และจะต้องกดตัวแป้งลงบนพิมพ์ให้แน่นมากพอถึงจะขึ้นลายได้สวย
8. เสน่ห์จันทร์
อีกหนึ่งขนมไทยมงคลที่พบได้บ่อยไม่ต่างจากทอกเอก นั่นคือ “เสน่ห์จันทร์” ที่มาในรูปทรงสีเหลืองอร่ามเป็นก้อนกลมคล้ายกับลูกจันทร์ผลไม้พื้นบ้านที่มีผลสุกสีเหลือง มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ในสมัยก่อนคนโบราณจึงนำผลจันทร์มาประยุกต์กลายเป็นขนมมงคล ส่วนด้านบนจะมีก้อนกลมเล็กๆ สีน้ำตาลจากน้ำตาลปี๊บที่ถูกเอาไปอบควันเทียนจนหอม
ซึ่งขนมจันทร์ถือเป็น 1 ใน 9 ขนมมงคลที่มีความหมายว่าเป็นคำที่มีสิริมงคล จะทำให้มีเสน่ห์มีคนมาหลงรัก จึงนิยมนำมาใช้ในพิธีแต่งงาน
สูตรลับในการทำเสน่ห์จันทร์ให้อร่อย
ปั้นให้ได้ก้อนกลมสวยด้วยขนาดที่พอดี
ขนมเสน่ห์จันทร์ความน่ารับประทานคือจะต้องมีก้อนกลมสวยคล้ายกับลูกจันทร์ ดังนั้นแล้วการปั้นให้ได้ก้อนกลมเป็นเรื่องสำคัญ โดยเราจะต้องปั้นส่วนผสมให้เป็นก้อนกลมอยู่ที่ประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร หลังจากนั้นก็กดให้แบนลงเล็กน้อย เพื่อให้ได้ทรงสวย
9. ขนมหม้อตาล
เชื่อว่าขนมหม้อตาลเป็นอีกหนึ่งขนมชาววังที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ เพราะในสมัยนี้หาทานได้ยากมาก เพราะด้วยวิธีการทำที่มีขั้นตอนเยอะ สลับซับซ้อนจึงหาคนทำได้ยาก และในสมัยก่อนขนมหม้อตาลนิยมใช้ในพิธีงานแต่งจึงมีอีกชื่อเรียกว่าขนมหม้อเงิน หม้อทอง ด้วยลักษณะของขนมหม้อตาลที่คล้ายกับหม้อดินเผาขนาดเล็ก ด้านในจะมีสีสันต่างๆ ที่ได้จากน้ำตาลเคี่ยว โดยรสชาติของขนมหม้อตาลจะมีความกรอบตัดกับความหวานกำลังดี เรียกได้ว่าเป็นขนมชาววังหายากที่น่ารับประทานมาก
สูตรลับในการทำขนมหม้อตาลให้อร่อย
1. แป้งต้องไม่แห้งเกินไป
เมื่อผสมแป้งสำหรับใช้ทำตัวหม้อเสร็จเรียบร้อยแล้วให้นวดไปเรื่อยๆ จนเนื้อส่วนผสมเข้ากันดี แต่หากรู้สึกว่าเนื้อตัวแป้งแห้ง และร่วนเกินไป ให้เติมน้ำผสมลงไปในแป้ง และนวดจนเนื้อแป้งเข้าที่ดี
2. อบควันเทียนเพิ่มความหอมน่าทาน
นำตัวหม้อของของขนมหม้อตาลที่สุกแล้ว ไปอบควันเทียนอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง หรือหากมีเวลามากพอให้อบควันเทียนทิ้งไว้หนึ่งคืน เพราะจะทำให้ตัวแป้งมีกลิ่นหอมมากก่อนที่จะนำไปหยอดน้ำตาล
10. ขนมไข่เหี้ย
ได้ยินชื่อแล้วอย่าเพิ่งตกใจ เพราะหลายคนอาจจะคุ้นชื่อว่า “ไข่หงส์” ปัจจุบันมีการเปลี่ยนชื่อให้ดูน่าทานมากขึ้น ขนมไข่เหี้ยเป็นขนมที่มีมายาวนานว่ากันว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เนื่องจากรัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์จะเสวยไข่เหี้ย แต่เนื่องจากไม่ใช่ฤดูวางไข่จึงมีคนคิดทำขนมไข่เหี้ยถวาย
ซึ่งขนมไข่เหี้ย หรือไข่หงส์ในปัจจุบันทำมาจากถั่วเขียวที่มาโขลกกับพริกไทย และเกลือปั้นเป็นไข่แดง แล้วนำแป้งข้าวเหนียวมาห่อแล้วจึงนำไปทอด จึงจะได้รสชาติที่กรอบอร่อยพร้อมกับความหวานตัดเค็มและกลิ่นหอมเผ็ดจากพริกไทย เรียกได้ว่ามีหลายรสชาติในหนึ่งเดียว
สูตรลับในการทำขนมไข่เหี้ยให้อร่อย
1. พักแป้งทิ้งไว้นาน ยิ่งทำให้ทอดแล้วน้ำมันไม่กระเด็น
เมื่อนวดแป้งจนเข้ากันแล้ว ให้พักแป้งทิ้งไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหากมีเวลาสามารถพักแป้งให้นานกว่านั้นได้ ขั้นตอนนี้สำคัญมากเพราะจะทำให้แป้ง และตัวน้ำตาลผสานกันได้ดี ซึ่งจะทำให้เมื่อนำไปทอดแล้วเกิดน้ำมันกระเด็นได้น้อยมาก
2. ทอดให้ขนมไข่เหี้ยไม่ติดกัน และได้สีเหลืองสวย
ให้ใช้น้ำมันทาที่มือ และทาถาดของขนมก่อนนำไปทอด จะทำให้ขนมไม่ติดกัน โดยก่อนทอดให้เปิดไฟแรงจนกระทั่งน้ำมันร้อนจัด หลังจากนั้นให้ลดลงเป็นไฟปานกลางจึงค่อยนำขนมไข่เหี้ยลงไป จะทำให้ได้ความร้อนที่พอดีจนกระทั่งได้ขนมไข่เหี้ยสีเหลืองสวยน่าทาน |