แต่เดิมนั้น คำว่า "ซิมโฟนี" (symphony) มาจากคำในภาษากรีก “????????” (อ่าน: “ซิมโฟนีอา”) ที่มีความหมายว่า "เสียงที่เข้ากันหรือกลมกลืนกัน" แต่ความหมายที่นำมาใช้จริงนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามยุคตามสมัยมาเป็นเวลามากว่าครึ่งสหัสวรรษแล้ว
ในยุคกลาง (Middle Ages) คำว่า "symphonia" ในภาษาละตินเริ่มถูกนำมาใช้เรียกเครื่องดนตรีบางชนิด โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่สามารถเล่นได้มากกว่าหนึ่งเสียงในเวลาเดียวกัน (โดยจะใช้คำที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาษา ได้แก่ อิตาเลียน: sinfonia, ฝรั่งเศสและเยอรมัน: symphonie, อังกฤษ: symphony) ต่อมาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 คีตกวีเริ่มนำคำว่า "sinfonia" มาใช้ในชื่อเพลงโดยสื่อความหมายว่าเป็นเพลงที่มีการใช้เครื่องดนตรีต่างๆ "บรรเลงด้วยกัน" และในศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางศตวรรษที่ 18 หรือยุคบาโร้ก (Baroque) คำว่า "sinfonia" ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการเรียกเพลงสำหรับเครื่องดนตรีเดี่ยวไปจนถึงวงออเคสตรา รวมถึงเพลงโหมโรง (overture) ต่างๆ โดยยังไม่มีแบบแผนการแต่งที่บังคับชัดเจน ทั้งนี้ ยังมีเพลงในรูปแบบของ Italian overture (ใช้บรรเลงก่อนการแสดงโอเปร่าหรือบรรเลงแยกเป็นเพลงเดี่ยว) ซึ่งแต่ละเพลงจะประกอบด้วย 3 กระบวนที่ให้อารมณ์ต่างกัน ได้แก่ เร็ว-ช้า-เร็ว โดยฟอร์มนี้ถือเป็นต้นแบบของ “ซิมโฟนี” ที่เราเข้าใจกันปัจจุบัน
โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเราพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “ซิมโฟนี” นั้น ฟอร์มดนตรีที่เรากำลังพูดถึงจริงๆ แล้วคือ “classical symphony” ซึ่งเป็นรูปแบบการแต่งซิมโฟนีที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในยุค “คลาสสิก” (ประมาณ ค.ศ.1750-1820) เป็นยุคทองของคีตกวีชื่อดังอย่าง Haydn, Mozart หรือ Beethoven โดย “ซิมโฟนี” แต่ละบทนั้นจะประกอบด้วย “กระบวน” หรือ “ท่อน” (movement) ที่ให้อารมณ์แตกต่างกันทั้งหมด 4 ท่อน โดยเรียงลำดับตามรูปแบบมาตรฐาน ได้แก่
ท่อนที่ 1: เร็ว (บางครั้งจะเปิดด้วยท่วงทำนองช้านำมาก่อน เพื่อสร้างความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่หรือลึกลับ)
ท่อนที่ 2: ช้า หวานหรือเศร้า
ท่อนที่ 3: Minuet (เพลงจังหวะเต้นรำซึ่งเป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 18) หรือ Scherzo (เพลงลีลาสนุกสนานชวนหัว)
ท่อนที่ 4: เร็ว มีชีวิตชีวา
ซิมโฟนีส่วนใหญ่ในยุคนี้จะถูกแต่งขึ้นสำหรับวงออเคสตราซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีในกลุ่มหลักๆ 3 กลุ่ม ได้แก่ ได้แก่ เครื่องสาย (ไวโอลิน, วิโอลา, เชลโล, เบส), เครื่องเป่าลมไม้ หรือ woodwind (ฟลูต, โอโบ, คลาริเน็ต, บาสซูน), เครื่องเป่าทองเหลือง หรือ brass (เฟรนช์ฮอร์น, ทรัมเป็ต) และกลองทิมปานี (ในบางกรณี) โดยคีตกวีเอกท่านหนึ่งที่แต่งเพลงโดยใช้รูปแบบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จนกลายเป็นแบบแผนมาตรฐานคือ Franz Joseph Haydn (1732-1809) ผู้ซึ่งประพันธ์ซิมโฟนีไว้มากถึง 108 บท จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งซิมโฟนี”
คีตกวีเอกอีกท่านหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยเมื่อเราพูดถึงซิมโฟนี คือ Ludwig van Beethoven (1770-1827) ผู้เป็นศิษย์ของ Haydn และได้นำดนตรีรูปแบบนี้ก้าวล้ำไปอีกขั้น “ซิมโฟนีหมายเลข 3” หรือ “Eroica” ของ Beethoven เป็นผลงานที่ได้ชื่อว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยไอเดียแปลกใหม่และอารมณ์ทุกรูปแบบ มีความยาวรวมถึง 45-50 นาที ซึ่งมากกว่าซิมโฟนีส่วนใหญ่ในสมัยเดียวกันถึงเท่าตัว นอกจากนั้นยังมี “ซิมโฟนีหมายเลข 9” ซิมโฟนีสำคัญบทแรกที่มีการนำคอรัสเข้ามาร้องรวมกับวงออเคสตรา โดยทำนองหลักของซิมโฟนีบทนี้ (“Ode to Joy”) ได้กลายมาเป็นทำนองที่ทุกคนคุ้นเคยและได้รับเลือกเป็นเพลงประจำสหภาพยุโรปอีกด้วย อีกเพลงหนึ่งของ Beethoven ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ “ซิมโฟนีหมายเลย 5” ซึ่งขึ้นต้นด้วยวลีเด็ด “ปั๊ม-ปั๊ม-ปั๊ม-ป่าม...” เป็นหนึ่งในเพลงคลาสสิกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกและยังได้รับการบรรเลงอยู่ตลอดเวลาแม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 200 ปีแล้ว
เคยมีคนถามผมว่า “หมายเลข” ต่างๆ ของซิมโฟนีนั้นมีความหมายว่าอย่างไร ? จริงๆ แล้ว หมายเลขที่ว่านี้ก็คือลำดับของซิมโฟนีบทนั้นๆ นั่นเอง เช่น “สมชาย” แต่งซิมโฟนีขึ้นมาบทหนึ่งเป็นบทแรกของเขา ซิมโฟนีบทนั้นก็จะกลายเป็น “ซิมโฟนีหมายเลข 1 ของสมชาย” หรือ “สมชายซิมโฟนีหมายเลข 1” หากแต่งขึ้นมาอีกบท ก็จะเป็น “สมชายซิมโฟนีหมายเลข 2” ตามลำดับ ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่า ในสมัยก่อนนั้นมักไม่มีการตั้งชื่อซิมโฟนี ซึ่งอาจเป็นเพราะดนตรีในซิมโฟนีบทหนึ่งๆ นั้นไม่จำเป็นจะต้อง “บรรยายภาพ” ถึงสิ่งใดเป็นพิเศษ ความงามอยู่ที่ตัวดนตรีล้วนๆ ความหมายใดๆ ที่อยู่นอกเหนือจากตัวดนตรีนั้นขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ฟังทั้งสิ้น นอกจากนี้ ซิมโฟนีแต่และบทมักเต็มไปด้วยอารมณ์หรือรสชาติที่แตกต่างกันมากมายเกินกว่าที่จะบรรยายในชื่อเดียวได้ หลายชื่อที่ใช้เรียกเพลงคลาสสิกที่มีชื่อเสียงบางบทนั้นถูกตั้งขึ้นภายหลังโดยผู้อื่น โดยที่ตัวคีตกวีเองมิได้มีส่วนรู้เห็นใดๆ
สุดท้ายนี้ ผมขอแนะนำซิมโฟนีบางบทที่ขอรับรองว่าฟังง่าย เป็นผลงานอมตะของคีตกวีเอกต่างๆ ที่เวลานับร้อยปีได้พิสูจน์คุณภาพมาแล้ว และมีส่วนให้ผมรักดนตรีคลาสสิกมาจนถึงทุกวันนี้ครับ บทเพลงเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายซีดีที่มีเพลงคลาสสิกทั่วไป และในยูทูบ (ที่นำมาลงโดยเจ้าของลิขสิทธิ์) ก็มีให้ฟังเยอะครับ :
Beethoven: Symphony no.5
Beethoven: Symphony no.6 “Pastoral” (บรรยายภาพถึงธรรมชาติ)
Beethoven: Symphony no.9 (ท่อนสุดท้าย: “Ode to Joy”)
Mozart: Symphony no.40
Haydn: Symphony no.94 (ท่อนที่ 2: “Surprise”)
Haydn: Symphony no.104 (“London Symphony”)
Mendelssohn: Symphony no.4 (“Italian Symphony”)
.......................................
(หมายเหตุ 'ซิมโฟนี คืออะไร?' : คอลัมน์ ลงบันไดคุย โดย.. ทฤษฎี ณ พัทลุง) |