3d printing เทคโนโลยีการพิมพ์เปลี่ยนโลก

 
3D printer คือเครื่องจักรที่ใช้กระบวนการเติมเนื้อวัสดุ เพื่อทำให้เกิดเป็นรูปร่างที่สามารถจับต้องได้ตามที่ต้องการ โดยอาศัยข้อมูลในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งการเติมเนื้อหรือพิมพ์วัสดุลงไปนั้นเรียกว่า Additive Process ซึ่งการพิมพ์นั้นจะค่อยเป็นไปทีละ Layer หรือทีละชั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ คือถ้าเราต้องการสร้างตึกที่มีจำนวน 25 ชั้น เราก็ต้องเริ่่มสร้างจากฐานรากก่อน แล้วค่อยๆ ต่อเสาขึ้นไปทีละชั้น จนเสร็จทั้งหมด 25 ชั้นกลายเป็นตึกขึ้นมา ซึ่งการสร้างแบบที่ละชั้น ถูกนำไปเป็นหลักการในการพิมพ์งานของ เครื่องปริ้น 3 มิติ โดยที่วัสดุที่ใช้ในการขึ้นรูปอาจจะแตกต่างกัน เช่นบางวัสดุใช้เป็นพลาสติก บางวัสดุเป็นน้ำ และบางวัสดุอาจจะเป็นผงฝุ่น แต่หลักการในการขึ้นรูปให้เป็นโมเดล 3 มิติ ก็ยังเป็นการสร้างที่ละชั้น ต่อกันไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นชิ้นงานโมเดล 3 มิติ ที่จับต้องได้
 
ในปัจจุปันนี้ มีการค้นพบวิธีการขึ้นรูปแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะไม่ใช่การขึ้นรูปที่ละชั้น แต่จะเป็นการพิมพ์แบบทีเดียวทุกๆชั้น ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาอยู่ ซึ่งถ้าวิธีการนี้สำเร็จ ก็จะเป็นปฎิวัติเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติไปอีกขั้น เพราะมันจะเหมือนกับการเสกของขึ้นมาในพริบตา แต่อาจจะต้องรอไปอีก 10-20 ปีจากนี้
 
 
รู้หรือไม่ ว่าจริงๆแล้ว เครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นเริ่มใช้กันมาในปี 1983 หรือเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย เพราะราคาสูงและติดสิทธิบัตร ทำให้ต้องรอสิทธิบัตรนั้นหมดอายุเสียก่อน ซึ่งคนที่คิดระบบการพิมพ์ 3 มิติขึ้นมาคนแรก ชื่อว่า Mr. Chuck Hull ซึ่งสิทธิบัตรที่แกเป็นคนจด ก็คือเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ SLA หรือ Stereolithography การที่มีสิทธิบัตรในมือ ก็ทำให้ Mr.Chuck Hull จัดตั้งบริษัท 3D System ขึ้นมาในปี 1986 ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ขายเครื่องพิมพ์ 3 มิติ บริษัทแรกในโลก ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังดำเนินธุรกิจนี้อยู่ และเป็นผู้เล่นหลักในวงการนี้อีกด้วย
 
3D Printer ทำงานอย่างไร
 

 
 
สำหรับการใช้งาน 3D printer นั้น จำเป็นต้องมีไฟล์ 3 มิติก่อน ซึ่งเจ้าไฟล์ตัวนี้ สามารถที่จะเขียนขึ้นมาจากโปรแกรมออกแบบ 3 มิติ หรือ จะใช้เครื่องสแกนเนอร์ 3 มิติ ทำการแปลงวัตถุในโลกจริงให้กลายเป็นไฟล์ดิจิตอล เมื่อได้ไฟล์มาแล้ว ก็เข้าโปรแกรมที่เรียกว่า Slicer เพื่อกำหนดค่าต่างๆ รวมถึงเลือกวัสดุที่จะใช้พิมพ์ ตัวโปรแกรม Slicer ก็จะเอาค่าที่ตั้งไว้ มาคำนวนและหั่นโมเดล 3 มิติออกมาเป็นชั้นๆ หรือเลเยอร์ และเปลี่ยนให้เป็นตัวเลข เพื่อให้เครื่องพิมพ์ สามารถอ่านค่าได้ เพื่อทำการพิมพ์งาน ซึ่งเวลาพิมพ์ ก็จะพิมพ์ที่ละชั้น หรือที่ละเลเยอร์ เมื่อชั้นแรกพิมพ์เสร็จ ก็จะเติมเนื้อในชั้นต่อไป กระบวนการ ก็จะวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้านึกไม่ออก ก็ลองเอาปืนกาว มายิงตามรูปที่ต้องการ พอกาวแข็งตัว ก็ยิงกาวทับลงไปบนกาวชั้นที่แข็งก่อนหน้า แล้วทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะได้โมเดล 3 มิติขึ้นมา
 
 
สำหรับการที่จะให้วัสดุติดกันเป็นรูปโมเดล 3 มิตินั้น จะขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุหรือหมึกที่ใช้ในการขึ้นรูป ถ้าเป็นหมึกพลาสติก ก็จะใช้หลักการให้ความร้อนกับพลาสติก เพื่อให้พลาสติกเปลี่ยนจากของแข็งเป็นของหนืด แล้วก็ใช้หัวฉีด ทำการฉีดพลาติกออกมา แต่ถ้าเป็นหมึกเป็นแบบผง ก็จะใช้ความร้อนยิงลงไปที่ผง เพื่อให้ผงหลอมละลายติดกัน ซึ่งความร้อนที่ยิงออกมา อาจจะมาจากเลเซอร์กำลังสูง แต่ถ้าเป็นของเหลว ก็อาจจะใส่สารพิเศษที่มีความไวต่อแสง เมื่อมีแสงมาโดน ก็จะเปลี่ยนจากของเหลว กลายเป็นของแข็ง

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่