เท้า เป็นอวัยวะสำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามไป ทั้ง ๆ ที่เท้านั้นเป็นอวัยวะที่รองรับน้ำหนักตัวทั้งหมดของร่างกาย ช่วยให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างราบเรียบ และเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มักจะถูกมองข้ามการดูแล ซึ่งหลายคนมองว่าการล้างเท้า ทำความสะอาด หรือตัดเล็บเท้า ก็ถือเป็นการดูแลที่เพียงพอแล้ว แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงประโยชน์ของการนวดเท้า ที่เป็นศูนย์รวมเส้นประสาทของร่างกายและเป็นจุดบ่งบอกอาการของโรค รวมถึงการบำบัดโรคผ่านการนวดฝ่าเท้า ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีนและอียิปต์โบราณมากว่า 5,000 ปี
เมื่อกล่าวถึงศาสตร์การนวดฝ่าเท้าแล้ว หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นศาสตร์การนวดที่มีต้นกำเนิดในไทย เนื่องด้วยมีร้านนวดเท้าให้บริการแทบทุกแห่งในกรุงเทพ แต่แท้จริงแล้วประวัติของการนวดฝ่าเท้าในประเทศไทยได้เริ่มจากผู้ที่ได้ไปศึกษาการนวดฝ่าเท้ามาจากต่างประเทศ และนำมาประยุกต์ผสมผสานกับศาสตร์การนวดแผนไทยจนกลมกลืน หลังจากนั้นจึงเผยแพร่ผ่านกรมการแพทย์แผนไทยจนเป็นที่นิยมในปัจจุบัน โดยรูปแบบการนวดเท้านั้น สามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็นสองแบบ ได้แก่ การนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นแบบฉบับที่กรมการแพทย์แผนไทยได้ผสมผสานองค์ความรู้จากประเทศจีนมาปรับประยุกต์ และเปิดอบรมจนเป็นที่แพร่หลาย และการนวดกดจุดสะท้อนเท้า ซึ่งเป็นศาสตร์จากทางจีนต้นตำรับ และอาศัยการเผยแพร่จากอาจารย์ต่างประเทศสู่ลูกศิษย์ที่เรียนกันโดยตรง
การนวดเท้านั้นเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นศาสตร์ที่มากกว่าการนวดเพื่อผ่อนคลาย แต่เป็นการนวดเพื่อรักษาโรค ช่วยดูแลสุขภาพ และช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โดยเท้านั้นเป็นศูนย์รวมปลายประสาทของอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ดังนั้นการนวดเท่ากับเป็นการกระตุ้นปลายประสาทเพื่อให้เลือดลมหมุนเวียนสะดวก ร่างกายปรับสมดุลให้กลับมามีประสิทธิภาพดี โดยที่ฝ่าเท้าจะมีจุดต่าง ๆ มากกว่า 60 จุดที่เชื่อมโยงกับอวัยวะทั่วร่างกาย เช่น ตับ ไต หัวใจ สมอง กระเพาะปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ และหากเกิดปัญหากับอวัยวะนั้น ๆ ก็จะทำให้การกดจุดที่เชื่อมโยงแล้วมีอาการเจ็บปวด ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าอวัยวะนั้น ๆ กำลังทำงานอย่างผิดปกติ โดยแบ่งตามระดับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กันไปด้วยเพื่อประโยชน์ในการรักษาของผู้ป่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับการไปนวดเท้านั้น ควรมีการเตรียมตัวทั่วไป เช่น ล้างเท้าให้สะอาด ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ไม่ดื่มเครื่องอื่มแอลกอฮอลล์ก่อนไปนวด หรือนวดหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ รวมถึงควรสังเกตอาการบาดเจ็บก่อนไปนวดว่าเข้าข่ายอาการที่ควรหลีกเลี่ยงการนวดหรือไม่ เช่น มีไข้ เป็นโรคติดเชื้อ กระดูกร้าว แตก หรือมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง นอกจากนี้ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ก็ควรหลีกเลี่ยงการนวดเท้าหรือปรึกษาแพทย์ก่อนนวดด้วย นอกจากนี้ควรเลือกสถานประกอบการที่ได้ใบรับรองและผู้นวดได้รับใบอนุญาต เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยต่อสุขภาพและได้รับประสบการณ์ที่ดีในการนวด
|