ทุกวันนี้เมืองไทยกำลังเผชิญปัญหาดินเสื่อมโทรม จากปัญหาดินเค็ม เนื่องจากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทั้งนี้ สามารถแบ่งประเภทดินเค็มได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะของพื้นที่ที่พบ คือ
1. ดินเค็มชายทะเล
2. ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดินเค็มชายทะเล เกิดจากตะกอนที่แม่น้ำพัดพามาตกทับถมในทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ลำคลองแถบชายฝั่งทะเล เมื่อมาตกทับถมกันนานเข้าก็จะกินบริเวณกว้างขวางจนเกิดเป็นหาดเลน และเมื่อมีตะกอนดินทับถมมากขึ้นก็จะค่อยๆ พัฒนาเป็นแผ่นดิน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม เนื้อดิน เป็นดินเหนียวซึ่งมีลักษณะเป็นเลน มีสีเทา หรือสีน้ำเงินปนเทา การระบายน้ำเลว
ดินเค็มชายทะเล ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชทั่วๆ ไปได้ เพราะดินมีความเค็มสูงมาก มีพืชธรรมชาติบางชนิดเท่านั้นที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถขึ้นได้ดีในดินพวกนี้ ได้แก่ แสม โกงกาง ลำพู ตะบูน ประสัก รวมเรียกว่า ป่าชายเลน ปรือ ป่าโกงกาง ดินเค็มชายทะเลนี้พบอยู่ตามชายฝั่งทะเลของภาคใต้ และภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 3.7 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม ดินเค็มชายทะเล สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ดินเค็มโซเดียม และดินเค็มกรด ซึ่งจะกลายเป็นดินเปรี้ยวจัด หากดินนี้ถูกทำให้แห้ง หรือมีการปรับปรุงมิให้มีน้ำท่วมขัง
ปลูกหญ้าแฝกแก้ดินเค็ม
วิธีปรับปรุงดินเค็มชายทะเลเพื่อการเกษตร ได้แก่
ยกร่องชะล้างเกลือ โดยระบบชลประทาน และทำคันดินกั้นน้ำทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลเข้าถึงพื้นที่
ลดระดับความเค็มของดินด้วยการกักน้ำจืดให้แช่ขังในพื้นที่
ปลูกพืชทนเค็มในบริเวณพื้นที่ดินเค็ม เช่น มะพร้าว ละมุด พุทรา ฝรั่ง มะขามเทศ สะเดา ฯลฯ
ใช้ที่ดินทำประโยชน์อย่างอื่น ให้สอดคล้องกับทรัพยากร เช่น ทำนากุ้ง เลี้ยงปลา ทำนาเกลือ หรือเป็นเขตที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม
ดินเค็ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ดินเค็มบนพื้นที่นอกชายฝั่งทะเล) จากการทำแผนที่ดินเค็ม และประเมินพื้นที่ดินเค็มโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ปรากฏว่า พบดินเค็ม 17% ของพื้นที่ทั้งภาค พบในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดเลย
ผลการสำรวจแบ่งพื้นที่ออกได้เป็น 3 ระดับความเค็ม คือ 1. บริเวณที่มีความเค็มในฤดูแล้ง เมื่อดินแห้งมากกว่า 16 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร มีพื้นที่รวม 1.4 ล้านไร่ 2. บริเวณที่มีความเค็มปานกลาง อยู่ระหว่าง 8-16 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร มีพื้นที่ 3.6 ล้านไร่ 3. บริเวณที่มีความเค็มน้อยในฤดูแล้ง ความเค็มอยู่ระหว่าง 4-8 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร มีพื้นที่ 12.6 ล้านไร่ จังหวัดที่พบมากที่สุดคือ จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ดินเค็ม 2.5 ล้านไร่
ลักษณะ ดินเค็ม
ลักษณะของดินเค็มของภาคอีสานสังเกตได้ง่าย จะเห็นขุยเกลือขึ้นตามผิวดิน มักเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีการทำเกษตรกรรม หรือถ้าไม่เห็นขุยเกลือขึ้นก็จะเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีพืชอื่นขึ้นได้ ยกเว้นวัชพืชที่ชอบเกลือ เช่น หนามแดง หนามบี่ หนามพรม เป็นต้น
ลักษณะของดินเค็มอีกประการหนึ่ง คือ ความเค็มจะไม่มีความสม่ำเสมอกันในพื้นที่เดียวกัน และความเค็มจะเปลี่ยนไปสะสมในชั้นของดินต่างๆ ไม่เท่ากันตามฤดูกาล โดยปกติในฤดูฝนเกลือจะถูกชะล้างไปสะสมในดินชั้นล่าง ในฤดูแล้งเกลือจะระเหยขึ้นมากับน้ำสะสมอยู่ที่ชั้นดินบนสลับกัน
ดินเค็มนอกชายฝั่งทะเลมีสาเหตุการเกิด เนื่องมาจากแหล่งเกลือในดินซึ่งมีกำเนิดจากหินอยู่ในชุดมหาสารคาม (Mahasarakam formation) ซึ่งได้แก่ พวกหินดินดาน และหินทราย ที่มีเกลือเป็นองค์ประกอบ แหล่งเกลือนี้อยู่ลึกจากผิวดินไม่มากนัก และอีกสาเหตุหนึ่งคือ บริเวณที่เกิดดินเค็มมีน้ำใต้ดินเค็ม โดยเฉพาะน้ำใต้ดินที่มีระดับใกล้ผิวดิน
การแพร่กระจายขยายอาณาเขตของดินเค็มเป็นไปได้หลายวิธี เช่น การสลายตัวของแหล่งเกลือที่มีอยู่ในที่สูง ที่หน้าดินเสียสมดุลในการรักษาความชื้นตามธรรมชาติ เพราะไม่มีต้นไม้ช่วยดูดซึมน้ำฝนส่วนเกิน เมื่อฝนตกจะเกิดการชะล้างหินดินดาน และหินทรายที่มีเกลืออยู่ให้สลายตัวทำให้เกลือถูกพัดพาไปซึมออกตามเชิงเนินแล้วเกิดดินเค็มในบริเวณพื้นที่ที่ต่ำกว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า “Saline seep”
ส่วนน้ำใต้ดินเค็มที่อยู่ในระดับไม่ลึก ทำให้เกิดปัญหาดินเค็มได้ เพราะเกลือถูกพาขึ้นมาสะสมบนผิวดินโดยแรง Capillary force ทำให้มองเห็นคราบเกลือเป็นหย่อมๆ อยู่ทั่วไปบนผิวดิน
เลี้ยงแพะในแหล่งดินเค็ม
นอกจากนี้ การสร้างอ่างเก็บน้ำ การทำนาเกลือโดยไม่มีระบบระบายน้ำที่ถูกต้อง การถางป่า หรือปล่อยพื้นที่บริเวณเป็นเกลือให้ว่างเปล่า ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายขยายอาณาเขตของดินเค็มได้เช่นกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดินเค็มก็คือ ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้หรือได้ผลผลิตต่ำ พืชบางชนิดที่ไปได้ก็จะมีลักษณะบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น ใบสีเข้มขึ้น มีสารพวกไขเคลือบหนาขึ้น พืชบางชนิดใบไหม้ ต้นข้าวในแปลงดินเค็มจะมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ต้นแคระแกร็นไม่แตกกอ ใบแสดงอาการเป็นขีดขาว แล้วไหม้ตายในที่สุด
อันตรายของความเค็มที่มีต่อพืชโดยตรง คือลดการดูดน้ำของพืช เพราะมีการเพิ่ม Osmotic pressure ของสารละลายในดินทำให้พืชแสดงอาการขาดน้ำ เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร เนื่องจากมีโซเดียม โบรอนคลอไรด์มากเกินไป ทำให้ธาตุบางชนิดเป็นพิษแก่พืช
แนวทางแก้ไขและการปรับปรุงดินเค็ม ต้องอาศัย การจัดการดิน น้ำ และพืช ไปพร้อมกันโดยต้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แนวทางการแก้ไขอาจแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ
1. การป้องกันการเกิดดินเค็ม ดำเนินการในบริเวณที่มีชั้นดินหรือหินที่มีเกลือ ในการนี้ทำโดยรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อมแห่งธรรมชาติ โดยเฉพาะในการรักษาความชุ่มชื้น สร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ที่ทำการเกษตร ไม่ปล่อยพื้นที่ให้ว่างเปล่า ในพื้นที่ของรัฐจะต้องสร้างสวนป่าขึ้นทดแทนป่าไม้ที่ถูกแผ้วถางทำลาย ในการปลูกต้นไม้ควรปลูกต้นไม้รากลึกทนเค็ม เพื่อป้องกันมิให้เกลือละลายซึมออกมายังที่ต่ำกว่า
2. การป้องกันการแพร่กระจายและการกำจัดดินเค็ม – หลีกเลี่ยงการสร้างอ่างเก็บน้ำที่จะทำให้เกิดปัญหาดินเค็มขึ้น – สำรวจด้านวิศวกรรม ในการจัดทำคูคลองระบายน้ำ เพื่อตัดกระแสการไหลของน้ำใต้ดินที่มีเกลือสะสมอยู่ แล้วเบนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ – ศึกษาสำรวจทางด้านอุทกธรณี เพื่อให้ทราบถึงทิศทางการไหล ระดับ และคุณภาพของน้ำใต้ดิน การใช้น้ำล้างเกลือออกจากดิน โดยร่วมมือกับกรมชลประทาน คำนวณปริมาณน้ำที่จะใช้ล้างเกลือในดิน จากระดับความเค็มหนึ่งให้ลดลงจนสามารถปลูกพืชทนเค็มได้ เหมาะสมกับระดับความเค็มนั้นๆ
ปลูกข้าวที่ทนดินเค็ม
การใช้ที่ดินเค็มให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำได้โดย
1.จัดทำแผนที่ดินเค็ม โดยแบ่งชั้นความเค็มของดิน เพื่อจะได้ใช้ในการจำแนกว่าควรจะใช้ประโยชน์เช่นไร เช่น ดินที่มีความเค็มจัดก็ควรใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการประมง การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
2.ใช้พันธุ์พืชทนเค็ม เพราะพืชต่างๆ มีความสามารถในการทนเค็มได้ต่างกัน แม้แต่ในพืชชนิดเดียวกันแต่ต่างพันธุ์กัน ก็ทนเค็มได้มากน้อยต่างกัน จากการศึกษาพบว่า ข้าวเป็นพืชที่ทนเค็มได้ปานกลาง ข้าวทนเค็มที่ได้เลือกไว้แล้วมี หอยอ้ม คำผาย 41 เก้ารวง 88 ขาวดอกมะลิ 105 กข1 กข 8 เจ๊กกระโดด กอเดียวเบา ขาวตาอู่ เหนียวสันป่าตอง ข้าวพันธุ์ต่างๆ นี้มีช่วงทนเค็มได้ระหว่าง 8-15 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร ส่วนพืชไร่อื่นๆ เช่น ถั่วเขียวพันธุ์ต่างๆ มีช่วงทนเค็มระหว่าง 4-6 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร
วิธีการปลูกพืช ควรปลูกเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมเกลือในบริเวณที่จะกระทบกระเทือนการเจริญเติบโตของพืช เช่น ข้าว ก็ควรใช้กล้าอายุมากกว่าปกติในการปักดำคือ ควรมีอายุระหว่าง 30-35 วัน
– หาวัสดุปรับปรุงดินบางชนิดมาใช้ เช่น ปูนขาว ยิปซัม แกลบ
– ใช้วัสดุคลุมดิน หรือพืชคลุมดิน ไม่ปล่อยให้หน้าดินว่าง
– จัดระบบการปลูกพืชให้เหมาะสม ควรปลูกพืชมากกว่า 1 ชนิด โดยปลูกให้เหมาะสมกับช่วง |