7 เรื่องน่ารู้เเกี่ยวกับทางช้างเผือก

1. “ทางช้างเผือก” กาแล็กซีที่เป็นบ้านของเรา
 
– กาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy) คือ กาแล็กซีที่ระบบสุริยะของเราอาศัยอยู่ จัดเป็นกาแล็กซีประเภทกังหันมีคาน (Barred Spiral Galaxy) ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์สมาชิกกว่า 200,000 ล้านดวง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100,000 ปีแสง ดาวฤกษ์และวัตถุต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะกระจายตัวตามระนาบของกาแล็กซี มีความหนาเฉลี่ยประมาณ 2,000 ปีแสง
 
2. ดวงอาทิตย์กำลังโคจรรอบใจกลางทางช้างเผือกด้วยอัตราเร็ว 282,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 
 
– ระบบสุริยะของเราที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง พร้อมกับดาวเคราะห์และวัตถุขนาดเล็กอื่น ๆ กำลังเคลื่อนที่โคจรรอบศูนย์กลางทางช้างเผือกด้วยอัตราเร็ว 282,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะใช้เวลาโคจรรอบทางช้างเผือกครบหนึ่งรอบ ประมาณ 230 ล้านปี
 
 
 
3. เราอยู่ในทางช้างเผือก แล้วเรามองเห็นทางช้างเผือกได้ยังไง
 
– นั่นเป็นเพราะว่า ระบบสุริยะของเราอยู่บริเวณแขนของทางช้างเผือก ห่างออกมาจากใจกลางกาแล็กซีประมาณ 25,800 ปีแสง เราจึงสามารถมองออกไปเห็นส่วนต่าง ๆ ภายในกาแล็กซีของเราได้ และเป็นมุมมองจากด้านข้างของทางช้างเผือก ปรากฏเป็นแนวยาวพาดผ่านบนท้องฟ้าจากทิศเหนือจรดทิศใต้ โดยบริเวณที่มีดาวฤกษ์หนาแน่นมากที่สุดจะเป็นบริเวณใกล้กับใจกลางทางช้างเผือกนั่นเอง
 
 
4. ดาวทุกดวงที่เห็นบนท้องฟ้า อยู่ในทางช้างเผือกทั้งหมด
 
– ท้องฟ้าตอนกลางคืนนั้น นอกจากจะเต็มไปด้วยดาวฤกษ์ที่เรียงตัวกันเป็นกลุ่มดาวต่าง ๆ แล้ว ยังมีวัตถุในห้วงอวกาศลึกที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าด้วย เช่น กาแล็กซีแอนโดรเมดา (Andromeda Galaxy) เป็นกาแล็กซีขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด เราสามารถมองเห็นกาแล็กซีนี้ได้ด้วยตาเปล่าหากท้องฟ้ามืดมิดมากพอ แต่จะมองเห็นเป็นแค่ฝ้าจาง ๆ บนท้องฟ้าเพียงเท่านั้น เราไม่สามารถมองเห็นดาวฤกษ์เดี่ยว ๆ ภายในกาแล็กซีแอนโดรเมดาได้เลย ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมองเห็นดาวฤกษ์ดวงอื่นนอกทางช้างเผือกได้ ดาวทุกดวงที่เรามองเห็นบนท้องฟ้าตอนกลางคืน จึงเป็นดาวที่อยู่ภายในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราทั้งสิ้น
 
* กาแล็กซีแอนโดรเมดา (Andromeda Galaxy) อยู่ห่างออกไปจากโลก 2.5 ล้านปีแสง จัดเป็นวัตถุที่ไกลที่สุดที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
 
5. “ใจกลางทางช้างเผือก” ตำแหน่งที่ท้องฟ้างดงามอลังการที่สุด
 
– ทางช้างเผือกที่เรามองเห็นบนท้องฟ้า จะมีลักษณะเป็นแนวยาวพาดผ่านจากทิศเหนือจรดทิศใต้ แต่ละตำแหน่งจะมีดาวฤกษ์กระจายตัวหนาแน่นไม่เท่ากัน โดยที่ใจกลางทางช้างเผือกจะมีดาวฤกษ์และวัตถุท้องฟ้าอยู่หนาแน่นมากที่สุด อยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นแนวเมฆสว่างสลับกับแนวทึบแสงที่เป็นกลุ่มฝุ่นหนาทึบภายในทางช้างเผือก หากใช้กล้องสองตาส่องกราดบริเวณนี้ จะเห็นดาวฤกษ์ระยิบระยับราวกับเม็ดทราย อีกทั้งยังมีวัตถุในห้วงอวกาศลึกอยู่หนาแน่น เช่น เนบิวลา และกระจุกดาวต่าง ๆ
 
6. ภายใต้ความงดงาม มี “หลุมดำยักษ์” ซ่อนอยู่ที่ใจกลางทางช้างเผือก
 
– ที่บริเวณใจกลางทางช้างเผือก มีดาวฤกษ์กำลังเคลื่อนที่โคจรรอบอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น นักดาราศาสตร์เก็บข้อมูลดาวฤกษ์เหล่านี้เป็นเวลากว่า 10 ปี และพบว่า วัตถุที่ดาวฤกษ์กำลังโคจรรอบนั้น มีมวลเท่ากับ 4 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ ! แต่มีขนาดเล็กเพียงเท่ากับระบบสุริยะของเราเท่านั้น ! นี่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกว่า มีหลุมดำมวลยวดยิ่ง (Supermassive Black Hole) อยู่ที่ใจกลางทางช้างเผือกจริง ๆ ซึ่งนักดาราศาสตร์ตั้งชื่อว่า Sagittarius A* (ซาจิทาเรียส เอ สตาร์)
 
 
7. WiFi ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ เริ่มต้นจากการค้นหาหลุมดำในทางช้างเผือก
– ย้อนกลับไปในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 John O’Sullivan วิศวกรชาวออสเตรเลีย ทำงานร่วมกับนักดาราศาสตร์เพื่อค้นหาหลุมดำขนาดเล็กตามที่ Stephen Hawking นักฟิสิกส์ชื่อดังชาวอังกฤษเคยทำนายไว้ ซึ่งยากที่จะตรวจจับได้ John O’Sullivan จำเป็นจะต้องพัฒนาเทคนิคการประมวลผลข้อมูลใหม่ให้สามารถแยกข้อมูลคลื่นวิทยุของหลุมดำ ออกจากคลื่นวิทยุพื้นหลังที่ไม่ต้องการ
 
สุดท้ายแล้ว แม้เขาและทีมจะไม่ได้ค้นพบหลุมดำขนาดเล็กตามที่คาดหวังไว้ แต่วิธีการประมวลผลข้อมูลที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้ กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ John O’Sullivan ใช้ในการแก้ปัญหาสัญญาณเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์แบบไร้สาย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญและจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี WiFi ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ และเทคโนโลยีนี้ก็ได้สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศออสเตรเลียหลายล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
 

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่