ในวันพฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม 2023 เวลา 13:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่น (ประมาณ 15:00 น. ไทย) บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ดำเนินการโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หรือ FDNPS ได้เริ่มปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกราว 200 ลูกบาศก์เมตร ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก
ก่อนที่จะปล่อยน้ำเสียอีก 456 ลูกบาศก์เมตรในวันต่อมา และยังวางแผนปล่อยอีก 7,800 ลูกบาศก์เมตร ใลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยคาดว่าจะใช้เวลาต่อเนื่องทั้งหมด 17 วัน ซึ่งแผนการปล่อยน้ำเสียทั้งหมดนั้นคาดกันว่าจะใช้เวลาทั้งหมด 30 ปีเลยทีเดียว
ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก (ที่มา: Reuters)
แต่ก็ใช่ว่าทางบริษัทปล่อยน้ำเสียออกมาเองตามอำเภอใจ เนื่องจาก TEPCO ได้เสนอแผนนี้กับ International Atomic Energy Agancy (IAEA) หรือทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2021 ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
แผนนี้ถูกเสนอให้กับ IAEA พร้อมระบุว่า “เราไม่มีทางเลือกอื่น” นั่นทำให้ไม่เพียงแต่ IAEA ที่ไฟเขียวกับแผนการนี้ แต่ยังมีสหรัฐอเมริกาที่คอยหนุนหลังอยู่ รวมถึงไต้หวัน ที่เห็นด้วยกับแผนการนี้ โดยเน้นย้ำว่าน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ทะเลนั้นจะต้องปลอดภัย และมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตน้อยที่สุด
ปลอดภัยจริงหรือ?
หลายคนคงเกิดคำถามว่า แล้วน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีนี้ จะปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชิวิตจริงหรือ เรื่องนี้ ทางด้าน TEPCO รายงานว่าจะมีการกรองน้ำเสียด้วยระบบ Advanced Liquid Processing System (ALPS) เพื่อกำจัดสารเคมีที่ปนเปื้อนออกไป ก่อนจะปล่อยลงสู่มหาสมุทร
แต่ถึงแม้จะผ่านการกรองด้วยระบบ ALPS แล้ว ก็ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง นั่นคือสารที่ชื่อว่า ‘ทริเทียม (Tritium)’ ที่เป็นไอโซโทปของไฮโดรเจน ซึ่งสามารถรวมตัวกับออกซิเจนกลายเป็นน้ำ และปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดสารนี้ออกไปได้ ทำได้เพียงเจือจางเพื่อลดความเข้มข้นของสารเท่านั้น
ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization – WHO) จึงได้กำหนดให้น้ำดื่มต้องมีระดับความเข้มข้นของทริเทียมต่ำกว่า 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร
โดยทาง TEPCO เองก็ได้แจ้งว่า ก่อนที่จะปล่อยลงสู่ทะเลนั้น น้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีเหล่านี้ได้ถูกบำบัด และเจือจางด้วยน้ำทะเลจนเหลือระดับความเข้มข้นของทริเทียมเพียง 700 เบ็กเคอเรลต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยตามที่ WHO ระบุไว้
FDNPS ส่งข้อมูลจากจุดต่าง ๆ ของการปล่อยน้ําที่ผ่านการบําบัดด้วย ALPS ลงสู่ทะเล ให้กับ IAEA (ที่มา: A. Vargas/IAEA)
น้ำเสียมาจากไหน
หลายท่านอาจจะพอจำกันได้ถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในปี 2011 ณ เมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้เผชิญแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่พัดเข้าสู่ในเมืองและ โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ จนทำให้สารหล่อเย็นในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงงานไฟฟ้าหยุดทำงาน
และเพื่อป้องกันการหลอมละลายของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ TEPCO จึงตัดสินใจใช้น้ำเข้าไปหล่อเย็นแทน เพื่อป้องกันการหลอมละลายของเตาปฏิกรณ์ นี่ทำให้เกิดน้ำเสียที่ออกมาจากกระบวนการส่งน้ำเข้าไปหล่อเย็น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ก่อนหน้านี้น้ำเสียเหล่านี้ได้ถูกจัดเก็บไว้ในแทงก์น้ำของโรงไฟฟ้า มากกว่า 1,000 แทงก์ จนเต็มพื้นที่ ส่งผลให้มีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการจัดเก็บอีกต่อไป ซึ่งคาดว่าอาจจะเต็มภายปลายปีนี้ หรือต้นปี 2024
แทงก์เก็บน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่กินพื้นที่จำนวนมากของโรงงาน
นี่ทำให้รัญบาลญี่ปุ่นและ TEPCO ต้องหาวิธีจัดการกับน้ำเสียเหล่านี้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดการรั่วไหลของน้ำเสียนี้ลงสู่ทะเลโดยอุบัติเหตุ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือแทงก์น้ำเกิดการรั่วซึมในอนาคต
ประเทศเพื่อนบ้านว่ายังไง
การกระทำนี้ของญี่ปุ่นทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ จีนและเกาหลีใต้ กังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีกระแสน้ำอุ่นคุโรชิโอะ ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะพัดพาน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีนี้ไปยังแถบประเทศต่าง ๆ โดยรอบ
กระแสน้ำรอบมหาสมุทรแปซิฟิก (ที่มา: BBC)
“นี่เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวของญี่ปุ่น”
กรมศุลกากรจีนสั่งงดนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเลจากฟุกุชิมะทันทีที่ญี่ปุ่นได้เริ่มปล่อยน้ำเสียลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ท่ามกลางเสียงคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์จากคนหลายกลุ่ม โดยยังกล่าวอีกว่า “นี่เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวของญี่ปุ่น”
ส่วนทางรัฐบาลเกาหลีใต้แรกเริ่มเดิมทีแสดงจุดยืนที่ยอมรับการตัดสินใจของประเทศญี่ปุ่น แต่ประชาชนกว่า 80% ไม่เห็นด้วยและออกมาร้องเรียนถึงการกระทำนี้ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ส่งผลให้ทางการเกาหลีใต้ตัดสินใจลงมติต่อต้านการปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่น
ประเทศไทยเองก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ใกล้กับญี่ปุ่น แต่ก็มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเลจากประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากมาตราการผ่อนปรนการนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะ ตั้งแต่ปี 2018
ผลการตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2023 กระทรวงสาธารณะสุขประเทศญี่ปุ่นได้เผยแพร่ ผลการตรวจสอบ จากการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล หลังจากปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลได้ 1 วัน
โดยทำการเก็บตัวอย่างทั้งหมดจาก 11 พื้นที่รอบบริเวณการปล่อยน้ำเสีย ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่ถูกเก็บมานั้น มาจากพื้นที่ ที่ห่างไกลกับโรงงานถึง 40 กิโลเมตร
หลังการทดสอบพบว่า ตัวอย่างน้ำทั้งหมดมีปริมาณของสารทริเทียมต่ำกว่า 10 เบ็กเคอเรลต่อลิตร โดยกระทรวงสาธารณะสุขญี่ปุ่นแจ้งว่าจะดำเนินการตรวจวัดระดับสารทริเทียมในน้ำทะเล และคอยรายงานผลอย่างต่อเนื่อง ให้กับทุกฝ่ายได้รับทราบ
นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของผลการรายงานได้จากช่องทางเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม อะกิฮิโระ นิชิมูระ (Akihiro Nishimura) ยังได้ออกมายืนยันว่า การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีนี้ ไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน
ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นอย่างไร
อย่างไรก็ดี มีนักวิทยาศาสตร์หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ว่าสารเหล่านี้อาจจะไปสะสมอยู่ในสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ที่เรานำมาบริโภคและอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาในอนาคตหรือไม่
เดวิด เบย์ลีย์ (David Bailey) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสผู้ตรวจวัดสารกัมมันตภาพรังสี ออกมาเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว โดยกล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือปริมาณของทริเทียมที่อยู่ในน้ำนั้นมีเท่าไหร่”
ด้าน เอมิลี่ แฮมมอนด์ (Emily Hammond) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าวว่า “ความท้าทายของน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีนี้คือ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่สามารถตอบได้อย่างมั่นใจว่า จุดที่ระดับทริเทียมต่ำที่สุด คือจุดที่ปลอดภัยแล้ว”
ขณะที่ เจมส์ สมิธ (James Smith) ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท กล่าวว่า “ตามทฤษฎีแล้ว เราสามารถดื่มน้ำนี้ได้ เนื่องจากน้ำเสียนี้ได้ผ่านการกรองแล้วตั้งแต่มันถูกจัดเก็บไว้แทงก์เก็บน้ำ ก่อนที่จะนำมาเจือจางอีกครั้ง”
บทสรุป
ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายจะกังวลถึงผลกระทบของการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น แต่ก็มีหลายฝ่ายที่ออกมาเห็นด้วยกับแผนการนี้พร้อมเหตุผลว่านี่เป็นวิธีที่ยั่งยืน และดีกว่าการเก็บน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีนี้ไว้ในแทงก์ ที่อาจเกิดการรั่วไหลออกมาได้
ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็กำลังเร่งสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายที่อาจได้รับผลกระทบ โดยการคอยตรวจสอบความเข้มข้นของสารทริเทียมอย่างละเอียด และรายงานความคืบหน้าของผลทดสอบอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ดี ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า สิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังทำในขณะนี้ จะส่งผลต่อระบบสิ่งแวดล้อมในอนาคตหรือไม่ สิ่งที่เราทำได้คงเป็นเพียงการจับตามองอย่างใกล้ชิด และหวังว่าการตัดสินใจนี้ของ IAEA จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ที่มา Reuters, BBC, IAEA, SMC, EAP, NHK World Japan, Voa, CNN, DW
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส
ที่มาบทความ : beartai.com
|