ประเทศไทยใช้ระบบการค้าเสรี จึงไม่สามารถแทรกแซงตลาดได้มากนัก ถึงแม้ว่าน้ำมันดิบจะสามารถผลิตได้ในประเทศ แต่กรรมสิทธิ์ก็เป็นของผู้รับสัมปทาน ซึ่งได้รับความเสี่ยงในการลงทุนสำรวจและผลิต การขายจึงเป็นเอกสิทธิ์ของผู้รับสัมปทาน แต่รัฐมีส่วนลดพิเศษให้ในการขายน้ำมันให้กับเอกชนภายในประเทศ ดังนั้นน้ำมันชนิดเดียวกันที่ขายภายในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับส่งขายไปต่างประเทศ จึงมีราคาต่ำกว่าเล็กน้อย นอกจากนั้น การอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ ประเทศสิงคโปร์เป็นหลัก เพราะเป็นประเทศที่มีตลาดการส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด หากราคาน้ำมันในประเทศถูกกว่าสิงคโปร์ ผู้ค้าน้ำมันในประเทศจะส่งออกน้ำมันไปขายทีสิงคโปร์แทนการขายในประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนในประเทศได้ หากราคาน้ำมันในประเทศแพงกว่า ผู้ค้าน้ำมันก็จะซื้อน้ำมันจากสิงคโปร์แทนการซื้อจากโรงกลั่นภายในประเทศ ซื่งจะทำให้โรงกลั่นน้ำมันขาดทุนและอาจต้องเลิกกิจการ
ราคาน้ำมันสิงคโปร์เป็นตัวเลขราคาที่ผู้ค้าน้ำมันจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียเข้าไปตกลงซื้อ-ขายผ่านตลาดกลางสิงคโปร์ ไม่ใช่ราคาที่ประเทศสิงคโปร์หรือโรงกลั่นในสิงคโปร์ ประกาศเพื่อซื้อขายเอง ทั้งนี้ ตลาดซื้อ-ขายระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งใหญ่มีเพียง 3 แห่ง คือ ตลาดนิวยอร์ก (NYMEX-New York Merchantile Exchange) ตลาดลอนดอน (IPE-International Petroleum Exchange) และตลาดสิงคโปร์ (SIMEX-Singapore Monetary Exchange)
สำหรับสาเหตุที่ทำให้สิงคโปร์เป็นตลาดกลางซื้อ-ขายน้ำมันของภูมิภาคเอเชียนั้น ประกอบด้วย
1.สิงคโปร์มีกำลังการกลั่นเหลือเพื่อการส่งออกมากที่สุด สิงคโปร์มีกำลังการกลั่น 1.2-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สามารถส่งออกได้ประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับประเทศไทยมีกำลังการกลั่นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เหลือส่งออกประมาณ 1.7 แสนบาร์เรลต่อวัน
การกลั่นที่สิงคโปร์เป็นการกลั่นเพื่อการส่งออกที่แท้จริง ถือเป็นการกลั่นเพื่อการส่งออก เนื่องจากโรงกลั่นอื่นในเอเชีย แม้จะมีกำลังการกลั่นมากกว่าสิงคโปร์ แต่ก็เป็นการกลั่นเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก เมื่อมีปริมาณเหลือจึงส่งออก การที่โรงกลั่นในสิงคโปร์กลั่นเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ทำให้ราคาจำหน่ายของตลาดสิงคโปร์สะท้อนราคาส่งออกสากลที่แท้จริง และสะท้อนความสามารถในการจัดหาและสภาพความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปของภูมิภาคเอเชีย
2.ทำเลที่ตั้งของสิงคโปร์เป็นเมืองท่าที่สำคัญ สภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศสิงคโปร์เอื้อต่อการเป็นจุดศูนย์กลางการเดินเรือของเอเชีย เป็นจุดรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและเป็นจุดกระจายน้ำมันสำเร็จรูปไปยังพื้นที่ต่างๆ ในเอเชียได้โดยสะดวก
3.ระบบการจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม สิงคโปร์มีนโยบายการบริหารประเทศ โดยมุ่งเน้นที่จะจูงใจและอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุน และการทำธุรกิจระหว่างประเทศเช่น ระบบบริหารราชการที่มีประสิทธิภาพสามารถติดต่อจัดตั้งหน่วยงานหรือบริษัทเพื่อทำธุรกิจได้สะดวกรวดเร็ว การมีมาตรการจัดเก็บภาษีธุรกิจในอัตราต่ำเพื่อจูงใจผู้ลงทุนสูง เป็นเหตุให้บริษัทหรือตัวแทนจากประเทศในเอเชียสามารถเข้ามาทำธุรกิจเจรจาติดต่อซื้อ-ขายผ่านตลาดสิงคโปร์ได้อย่างคล่องตัว ความเป็นสากลในเชิงธุรกิจ และความพร้อมในระบบการขนส่งทางเรือ
สาเหตุที่ต้องใช้ราคาสิงคโปร์เป็นฐานคำนวณ
1.สะท้อนราคาตลาดและอุปสงค์-อุปทานในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง เนื่องจากในตลาดกลางสิงคโปร์แห่งนี้มีผู้ซื้อ-ขายจำนวนมากจากทุกประเทศไทยในเอเชีย จึงไม่มีผู้ซื้อ-ขายรายใดรายหนึ่งสามารถเข้าไปแทรกแซงหรือปั่นราคาได้ ราคาที่ตลาดสิงคโปร์จึงเป็นราคาที่สะท้อนสภาพตลาดและสภาวะอุปสงค์อุปทานในภูมิภาคเอเชียและของตลาดโลกอย่างแท้จริง
2.สะท้อนต้นทุนการนำเข้าของไทยในระดับต่ำสุด ตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดซื้อ-ขายระหว่างประเทศและเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซีย ซึ่งใกล้ไทยมากที่สุด ดังนั้น ต้นทุนในการนำเข้าจึงเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดที่โรงกลั่นไทยต้องแข่งขันด้วย
ขณะเดียวกัน สิงคโปร์มีระยะทางที่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดน้ำมันสากลอื่น คือที่นิวยอร์กและลอนดอน หากประเทศไทยจะต้องนำเข้าน้ำมัน การนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์จะมีต้นทุนต่ำสุด ดังนั้นการกำหนดราคาน้ำมันของไทยจำเป็นต้องพิจารณาจากระดับที่แข่งขันได้
3.ทำให้เกิดสมดุลในการผลิตและการจัดหาของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายระบบการค้าน้ำมันเสรี สามารถนำเข้า-ส่งออกได้อย่างเสรี หากไม่กำหนดราคาขึ้น-ลงไปตามตลาดสิงคโปร์ จะทำให้เกิดปัญหาไม่สมดุลในการผลิตและการจัดหาของประเทศขึ้น กล่าวคือ หากไทยกำหนดราคาของตนเองโดยรัฐเข้าไปควบคุมราคาของโรงกลั่น (ไม่ว่าจะด้วยการกำหนดให้ราคาคงที่ หรือใช้ราคาน้ำมันดิบบวกด้วยค่าใช้จ่ายคงที่) เมื่อใดที่ราคาที่กำหนดเองต่ำกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นนำน้ำมันส่งออกไปขายที่ตลาดสิงคโปร์เพราะจะได้ราคาสูงกว่า ซึ่งอาจทำให้ปัญหาน้ำมันขาดแคลนในประเทศได้
และในทางกลับกัน หากเมื่อใดราคาสิงคโปร์ลดลงจนต่ำกว่าราคาที่กำหนดเอง ผู้ค้าน้ำมันในประเทศก็ไม่อยากซื้อจากโรงกลั่น เพราะนำเข้ามาจากตลาดสิงคโปร์จะถูกกว่า ซึ่งทั้งสองกรณีจะทำให้เกิดการนำเข้า-ส่งออกขึ้นโดยไม่จำเป็น ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการจ้างเรือขนส่งน้ำมันเนื่องจากประเทศไทยมีเรือบรรทุกน้ำมันไม่เพียงพอ
4.ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียใช้ราคาตลาดสิงคโปร์ตัวอ้างอิง ทั้งในการเจราซื้อ-ขาย ระหว่างประเทศ และใช้เป็นฐานการคำนวณต้นทุนราคาภายในประเทศ ส่วนการที่ราคาขายปลีกน้ำมันของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับระบบการจัดเก็บภาษีหรือการจ่ายเงินอุดหนุนของแต่ละประเทศ
การใช้ราคาน้ำมันสิงคโปร์เป็นฐานการคำนวณจึงมีผลดีมากกว่าผลเสีย
ที่มา : https://dmf.go.th/public/list/data/detail/id/11269/menu/604/page/3
|