ญี่ปุ่นปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีลงทะเล อาหารทะเลยังปลอดภัยอยู่ไหม

การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้ผ่านการบำบัดแล้ว และสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของสหประชาชาติ ได้ไฟเขียว เมื่อเดือน ก.ค. หลังญี่ปุ่นศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมานาน 2 ปี แต่ยังคงสร้างความกังวลให้กับชาวญี่ปุ่น และประเทศใกล้เคียง มีการประณามญี่ปุ่นไร้ความรับผิดชอบ
 
 
เป็นเหตุให้รัฐบาลจีน ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว แต่อนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดอื่นได้ แต่ต้องผ่านการทดสอบกัมมันตภาพรังสี และมีหลักฐานว่าผลิตนอก 10 จังหวัดต้องห้าม รวมถึงฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งได้ออกมาประท้วง และผู้คนแตกตื่น มีการกักตุนอาหารทะเล สาหร่ายทะเล และเกลือไว้ล่วงหน้า
 
น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ถูกกรองออกไปแล้ว ยกเว้นทริเทียมและคาร์บอน-14 แยกออกจากน้ำได้ยากมาก แต่ญี่ปุ่นยืนยันอยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งการทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ในรอบแรกของบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ TEPCO ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เริ่มปล่อยในปริมาณ 7,800 ตันในระยะเวลา 17 วัน จากปริมาณน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในถังกักเก็บมากกว่า 1.3 ล้านตัน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก คาดจะใช้เวลาประมาณ 30 ปี 
 
โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เผชิญเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหาย จนสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณมหาศาลรั่วไหล เป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในโลก นับตั้งแต่โศกนาฏกรรมเชอร์โนบิลในปี 2529 ต้องใช้น้ำฉีดเพื่อลดอุณหภูมิ และเก็บน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไว้ในถังกักเก็บจนเต็มความจุ นานกว่า 10 ปี โดยการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการรื้อถอนโรงไฟฟ้า
 
น้ำบำบัดแล้ว เหลือทริเทียม และคาร์บอน-14 น้อยมาก
 
"ดร.สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย คาดว่าน้ำเสียที่ถูกบำบัดแล้วจะมีสารทริเทียม ประมาณ 190 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก ต้องไม่เกิน 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งเบ็กเคอเรลเป็นหน่วยวัดปริมาณกัมมันตรังสีที่เกิดจากการสลายตัวจากต้นกำเนิดรังสี และแม้ญี่ปุ่นจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงบำบัดน้ำเสียจนสารกัมมันตภาพรังสีหลายชนิดเข้าใกล้ศูนย์ แต่การบำบัดขั้นสูงนี้ไม่สามารถกำจัดสารทริเทียม และคาร์บอน-14 ได้หมดแต่จะเหลือน้อยมาก
 
ในช่วงเดือน มิ.ย. 2565 ถึง มิ.ย. 2566 จากการสำรวจพบปลา 44 ชนิดมีสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนมากกว่า 100 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าที่ปนเปื้อนในมหาสมุทร และมีผลต่อสุขภาพอนามัยได้แก่ สารคาร์บอน-14, ไอโอดีน-131, ซีเซียม-137, สตรอนเซียม-90, โคบอลต์-60 และไฮโดร-3 ซึ่งเรียกว่าทริเทียม
 
ที่ผ่านมารัฐบาลฮ่องกง ไม่รับประกันการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีต่อระบบนิเวศในทะเลและความปลอดภัยในอาหารทะเลเกรงจะมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวโดยสั่งแบนอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยโตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ กุนมะ โทชิกิ อิบารากิ มิยางิ นีงาตะ นากาโนะ และไซตามะ นอกจากนี้ประเทศจีนและเกาหลีใต้ ก็ได้ระงับการนำเข้าสัตว์น้ำและอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเช่นกัน.
 

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่