5 วิธีออมเงินง่าย ๆ ใช้เก่งยังไงก็เก็บเงินอยู่!

หลายคนอาจกำลังเจอกับปัญหาออมเงินไม่อยู่ เก็บเงินยังไงก็เก็บไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่หากคุณกำลังมองหาวิธีเก็บเงินแบบจริงจังแต่ทำตามได้ง่าย ๆ เงินติดล้อขอแนะนำเทคนิคเก็บเงินที่เรากำลังจะแนะนำนี้ เพราะเป็นวิธีการเก็บเงินที่ง่ายที่สุด เริ่มต้นทำได้จากการใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง เพื่อเป็นการฝึกวินัยในการออมเงินให้อยู่ ก่อนจะตั้งเป้าหมายเก็บเงินยังไงให้รวย หรือออมเงินอย่างมีระบบเพื่อปลดหนี้ในอนาคตได้อย่างแน่นอน

 

1. ไม่ใช้แบงค์ 50
 
การไม่ใช้แบงค์ 50 เป็นวิธีเก็บเงินง่ายๆ ที่หลายคนเลือกทำกันมากที่สุด เว็บไซต์ดังอย่าง Pantip.com ก็มีคนแชร์วิธีนี้กันมากมาย แบงค์ 50 เป็นแบงค์ที่เราไม่ค่อยพบเจอ เมื่อได้มาแล้วหลายคนจึงเลือกที่จะเก็บไว้ อาจคิดเสียว่าคุณกำลังทำภารกิจสะสมแบงค์ 50 ก็จะทำให้การเก็บเงินเป็นเรื่องที่สนุกมากยิ่งขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีออมเงินที่การันตีว่าเห็นผลมานักต่อนักแล้ว บางรายเก็บไปปี ๆ ได้เป็นหลักหมื่นเลยก็มีให้คุณเห็นภาพมากยิ่งขึ้น
 
โดยปกติแล้วคนเราจะชินกับการใช้จ่ายด้วยแบงค์ 100 กับแบงค์ 20 เป็นหลัก ร่วมกับเหรียญ นาน ๆ ที่แบงค์ 50 จะมีบทบาท
 
ดังนั้นการเก็บแบงค์ 50 มันทำให้เรารู้สึกว่าการออมมันไม่ได้ลำบากอะไรมากขนาดนั้น สามารถทำได้เรื่อย ๆ แค่แบงค์ 50 เอง หยอด ๆ กระปุกไปเถอะ แต่ลองดูตัวเลขดี ๆ นะครับ สมมติเราซื้อของทุกวันแล้วได้แบงค์มาวันละ 1 ใบ
 
1 เดือน เราจะได้ 50 x 30 = 1,500 บาท
 
1 ปี เราจะได้ 50 x 365 = 18,250 บาท
 
นี่ขนาดแค่ตัวเลขสมมติ มันอาจจะได้มาก หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ เพราะคงไม่มีใครซื้อของทุกวันแล้วได้แบงค์ 50 ตลอดยกเว้นพ่อค้าแม่ค้า แต่คงเห็นแล้วว่าพลังของแบงค์ 50 นั้นจริง ๆ มันมากมายขนาดไหน
 
2. จำกัดการถอนเงินของตัวเอง
 
วิธีเก็บเงินง่าย ๆ วิธีที่สองคือ จำกัดการถอนเงินของตัวเอง ด้วยการถอนเงินมาก้อนเดียวหรือสองก้อนเก็บไว้ที่บ้าน แล้วดึงมาใช้รายวันจะสามารถเก็บเงินได้ง่ายกว่า
 
แต่ไม่ใช่ว่าถอนมาทีเดียวหมดบัญชีนะ แค่คิดก่อนว่าเราใช้เงินปกติวันละไม่เกินเท่าไหร่ แล้วจัดแจงคูณตามวันที่มาทำงานเลย ส่วนการถอนครั้งต่อไปก็เก็บไว้ให้เหตุฉุกเฉินที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น สมมติคุณใช้เงินเดือนละไม่เกิน 200 รวมค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ปกติ คุณทำงานเดือนละ 20 วัน
 
จำนวนเงินที่ถอนได้จะเท่ากับ 200 x 20 = 4,000บาท
 
เห็นไหมว่าแค่นี้ก็สามารถประหยัดเงินได้มากมายแล้ว อีกทั้งเรายังเห็นภาพรวมของเงินได้มากขึ้นกว่าการถอนรายวันด้วย เพราะสมมติว่าวัน ๆ นึงเราถอนเงินซักสามครั้ง ถ้าไม่ได้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เราลืมแน่นอนว่าเราจ่ายเงินค่าอะไรไปบ้าง
 
แต่ถ้าเราเน้นแค่ถอนเงินเป็นก้อน ใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ หากมีการถอนเงินนอกเหนือจากนั้นขึ้นมา คุณจะสังเกตตัวเองได้ทันทีว่า มีการใช้เงินที่ผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ ทำให้คุณมีวินัยและสามารถวางแผนการเงินได้ดียิ่งขึ้น
 
3. ตั้งเป้าแล้วแปะบนกระปุก
 
  • อยากไปเที่ยว 
  • อยากได้กระเป๋าใหม่ 
  • อยากได้มือถือเครื่องใหม่
 
อยากได้อะไรเขียนแปะไว้ที่กระปุกและตั้งเป้าหมายค่อย ๆ เก็บเงิน อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจซื้อทันที และไม่ว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร ให้คำนวณออกมาว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ด้วย 
 
เช่น อยากไปเที่ยวต่างจังหวัดใช้เงินเท่าไหร่? จะกลับบ้านวันหยุดยาวเอาเงินไปฝากพ่อฝากแม่เท่าไหร่? เลี้ยงดูลูกหลานใช้เงินเท่าไหร่? ให้เขียนแปะไว้เลย นอกจากจะเป็นแรงจูงใจในการเก็บเงินให้เห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว เป้าหมายที่เขียนแปะไว้นั้น จะเป็นกำลังใจให้คุณเก็บเงินแบบจริงจังได้อีกด้วย
 
ซึ่งวิธีแปะกระปุกนี้ เราไม่จำเป็นต้องใช้กระปุกเดียวในการเก็บออม ใช้หลายกระปุกก็ได้ แล้วหยอดตามความสำคัญที่เราเห็นควร
 
4. ใช้กระติกน้ำ
คุณอ่านไม่ผิดแน่นอน พกกระติกน้ำไปทำงานเป็นหนึ่งในวิธีการประหยัดเงินที่ได้ผลสุด ๆ เมื่อเราหิวน้ำ ไม่จำเป็นต้องซื้อน้ำขวดใหม่ คว้ากระติกตัวเองมาได้เลย นอกจากจะประหยัดเงินแล้วยังดีต่อทรัพยากรโลกอีกต่างหาก
 
ทำไมเราจึงต้องเน้นเรื่องนี้? ผลสำรวจการใช้เงินของคนไทยในปัจจุบันระบุไว้ว่าพวกเราใช้เงินไปกับอาหารและเครื่องดื่มสูงที่สุดเลยนั่นเอง และบางครั้งค่าเครื่องดื่มสูงกว่าค่าอาหารเสียด้วยซ้ำ
 
ยังไม่นับว่าเมื่อเราอยากกินน้ำหวานหรือของฟุ่มเฟือย เราสามารถดื่มน้ำจากกระติกนี้แก้ขัดได้ แน่นอนว่าเราไม่ได้ห้ามเรื่องการกินกาแฟ ชานมไข่มุก หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ แต่การมีกระติกน้ำจะลดโอกาสที่เราได้กินเครื่องดื่มเหล่านี้ และเพิ่มเงินในกระเป๋าตัวเองให้มากขึ้น ทำให้เอาเงินไปใช้อย่างอื่นได้
 
สมมติเราดื่มน้ำดื่มขวดละ 7 บาท ทุก ๆ วันที่ไปทำงาน เราทำงานเดือนละ 20 วัน
 
คิดเป็นเงิน 7 x 20 = 140 บาท ต่อเดือน
หรือ 7 x 20 x 12 = 1680 บาท ต่อปี
 
นี่แค่น้ำดื่มธรรมดาราคา 7 บาท หากเป็นเครื่องดื่มที่มีราคาสูงกว่านี้ เราก็สามารถประหยัดได้มากกว่านี้อีกมากเลยทีเดียว
 
5. ใช้เท่าไหร่ เก็บเท่านั้น
 
วิธีเก็บเงินง่าย ๆ วิธีสุดท้าย...ใช้เท่าไหร่ เก็บเท่านั้น
 
สมมติว่ามีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากการกินอยู่ หรือนอกเหนือจากที่ได้วางแผนไว้ 
 
เช่น อยู่ ๆ วันนี้เราอยากซื้อหนังสือใหม่ซักเล่ม เลยซื้อหนังสือราคา 120 บาทไป หยอดกระปุกเพิ่มไปเลย 120 บาท เราเห็นของลดราคา เสื้อยืดตัวละ 199 ขายเหมาสามตัว 500 บาท เลยหยิบมา หยอดกระปุกไปอีกครั้ง 500 บาท
 
วิธีเขี้ยว ๆ อย่างนี้เป็นไปได้เหรอ? มันโหดเกินไปไหม? ขอตอบชัด ๆ ว่าไม่โหดเลย นี่เป็นหนึ่งในวิธีบังคับตัวเอง ลดรายจ่าย เพิ่มเงินออมที่เห็นผลชัดเจนอีกเหตุผลหนึ่ง
 
มันทำให้เราหลีกเลี่ยงการใช้เงินอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือการใช้จ่ายตามเป้าหมาย รวมไปถึงเพิ่มเงินออมโดยรวมได้เร็วขึ้น หากเราซื้ออะไรตามความอยากของตัวเองบ่อย ๆ แน่นอนว่ายิ่งเพิ่มวินัยทางการเงินอย่างดีเข้าไปอีก ซื้อเท่าไร ทบเงินเก็บไปเท่านั้น

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่