เลือกดื่มนมอย่างไรให้เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้ได้คุณประโยชน์มากที่สุด

นมมีกี่แบบ แต่ละแบบต่างกันอย่างไร
 
แหล่งที่มาของน้ำนมสามารถแบ่งนมออกมาได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ
 
 
1.นมจากสัตว์
น้ำนมที่มาจากสัตว์นั้น มีลักษณะเป็นของเหลวสีขาวที่มีลักษณะข้นกว่าน้ำเล็กน้อยได้จากการรีดจากเต้านมของสัตว์ต่าง ๆ เช่น นมวัว นมควาย นมแพะ เป็นต้น น้ำนมที่ถูกรีดจากสัตว์ต่างๆ โดยที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยกรรมวิธีต่างๆ นั้นเราเรียกว่า “นมดิบ” โดยสัตว์ที่เรามักนำน้ำนมมาดื่ม ได้แก่ วัว ควาย และแพะ
 
2.นมจากพืช
นมจากพืชไม่ได้เหมาะกับคนที่กินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลายเป็นนมทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรักสุขภาพ คนที่ควบคุมอาหาร รวมถึงคนที่แพ้นมวัวและคนที่มีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง โดยพืชที่สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำนมได้ ได้แก่ นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ น้ำนมข้าว นมข้าวโอ๊ต และนมพิสตาชิโอ ซึ่งแต่ละชนิดประกอบด้วยสารอาหารแตกต่างกัน
 
นมแต่ละแบบ ต่างกันอย่างไร
หลังจากได้น้ำนมดิบมาแล้ว นมเหล่านั้นก็จะผ่านกระบวนการผลิต ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์นมต่างๆ ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกทานได้ 
 
  • นมสด (Raw  Milk)
นมสด คือ น้ำนมดิบ 100% ที่รีดออกมาสดใหม่ โดยที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การฆ่าเชื้อหรือปรุงแต่งใด ๆ จึงมีกลิ่นและรสชาติที่หอมมันที่สุดในบรรดานมทั้งหมด อีกทั้งยังมีสารอาหารครบถ้วน แต่เก็บรักษาได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะในน้ำนมดิบจะมีจุลินทรีย์ที่ทำให้นมเสียเร็ว จึงนิยมนำไปผ่านกระบวนการและกรรมวิธีต่างๆ เพื่อให้เก็บรักษาน้ำนมสดได้ยาวนานยิ่งขึ้น
 
  • นมพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurized  Milk)
นมพาสเจอร์ไรส์เป็นนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยความร้อน 63-72 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ 15 นาที ไปจนถึง 30 นาทีเพื่อทำลายจุลินทรีย์บางส่วนที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ไม่ได้ทำลายตัวที่ทำให้นมเน่าเสียได้ อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและรสชาติหอมมันใกล้เคียงกับนมสดมากที่สุด แต่ก็เป็นนมที่มีอายุสั้นเพียงแค่ 7-10 วัน และต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาตลอดเวลา
 
  • นมยูเอชที (Ultra-High Temperature Milk หรือ UHT)
นมยูเอชทีเป็นนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนอีกประเภทหนึ่ง โดยจะใช้ความร้อนที่สูงถึง ถึง 135-150 องศาเซลเซียส ในระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 2-4 วินาที ทำให้สามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ออกไปได้เกือบทั้งหมด และแทบไม่สูญเสียวิตามินเลย อีกทั้งกลิ่นและรสชาติของนมก็ยังอยู่อย่างชัดเจน และสามารถเก็บได้โดยไม่ต้องแช่เย็นนาน 6-8 เดือนเลยทีเดียว
 
  • นมเปรี้ยว (Fermented Milk)
นมเปรี้ยวเป็นนมที่มีรสชาติแตกต่างจากน้ำนมประเภทอื่นมากที่สุด ด้วยกระบวนการที่ต้องมีการเติมแบคทีเรียที่ช่วยให้กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานได้เป็นปกติลงในน้ำนมสด และนำไปหมักต่อเพื่อเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และในบางครั้งอาจมีการปรุงแต่งรสชาติ กลิ่น สีเพิ่มเติม ทำให้ได้เป็นนมเปรี้ยวที่หลายๆ คนชื่นชอบ เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาเรื่องการย่อยน้ำตาลในนม
 
  • โยเกิร์ตพร้อมดื่ม (Drinking Yogurt)
โยเกิร์ตพร้อมดื่มหรือนมเปรี้ยวโยเกิร์ตพร้อมดื่มมีกระบวนการหมักเหมือนกับโยเกิร์ต คือใช้วัตถุดิบเป็นน้ำนมวัว จากนั้นผ่านกระบวนการหมักด้วยเชื้อจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส บัลการิคัส และสเตรปโตคอกคัส เทอร์โมฟิลัส เป็นจุลินทรีย์ที่ผลิตกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria) ทำให้ได้โยเกิร์ตพร้อมดื่มที่มีกรดแลคติกธรรมชาติจากการหมักโดยไม่มีการปรับแต่งกรด คุณประโยชน์สูง ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย แก้ท้องอืด กระตุ้นการย่อยอาหารและเร่งให้เกิดกระบวนการเผาผลาญ มีแคลเซียมสูงจากนมโคแท้ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
 
 
ดื่มนม แบบไหนถึงจะถูกวิธีและเหมาะสมกับวัย 
 
  • เด็กวัยเรียน
เด็กๆ ในวัยเรียน จึงควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2  แก้ว เฉลี่ยปีละ 88 ลิตร พ่อแม่เองก็ต้องเสริมสร้างวินัยในการออกกำลังกายให้กับเด็กๆ ด้วย โดยแนะนำประเภทของกีฬาที่เพิ่มความสูง อย่างเช่น ว่ายน้ำ บาสเกตบอล และโหนบาร์  ให้เด็กๆ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ เพื่อเด็กเองจะได้โตอย่างสมวัย สูงสมส่วน กระดูกและฟันแข็งแรง และไม่เป็นโรคอ้วน
  • วัยผู้ใหญ่
สำหรับผู้ใหญ่ หากเป็นผู้มีปัญหาไขมันในเลือดสูง อาจไม่แนะนำให้ดื่มนมวัวแบบเต็มมันเนย (Whole Milk) ควรให้ดื่มนมเป็นชนิดไขมันต่ำ ( Low fat Milk) ส่วนหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถดื่มนมได้ตามปกติ แคลเซียมที่อยู่ในนมจะช่วยบำรุงกระดูกมารดาและสร้างกระดูกทารกในครรภ์
  • วัยผู้สูงอายุ
สำหรับผู้สูงอายุ นมจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เป็นประโยชน์อย่างมากในวัยผู้ใหญ่ที่ร่างกายมีอัตราการสร้างฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ฟื้นฟูร่างกายลดน้อยลง โดยคนสูงอายุควรดื่มนมวันละ 1 แก้ว เป็นนมชนิดไขมันต่ำ (Low fat milk)

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่