นรกมีกี่ขุม รู้ไว้เตือนใจไม่ให้ทำบาป

‘จารึกเรื่องนิรยกถา’ ปัจจุบันอยู่ที่ เสาในพระประธานมุขหลัง ศาลาการเปรียญ (โบสถ์เก่า) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร สร้างขึ้นเมื่อปี จ.ศ. 1200 หรือ พ.ศ. 2381 โดย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการให้กรมหมื่นไกรสรวิชิตให้ช่างจารึกเรื่องนี้ไว้
 
 จารึกเป็นแผ่นหินอ่อนสีดำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชุดจารึกเรื่องนิรยกถานี้ มีทั้งหมด 12 แผ่น แต่ละแผ่นมีจารึก 17 บรรทัด อักษรไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์และขอมธนบุรี-รัตนโกสินทร์ ภาษาไทยและบาลีตอนต้นเล่าถึงที่มาของจารึก ครั้งเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 จุลศักราช 1200 ปีจอ สัมฤทธิศก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการให้กรมหมื่นไกรสรวิชิตให้ช่างเขียนระบายเรื่องนิรยกถา และเปรตกถาไว้ที่คอ 2 มุขหน้า มุขหลังการเปรียญวัดพระเชตุพน ตามพระบาลีฯ จากนั้นกล่าวถึงการแสดงธรรมเทศนาพระพุทธเจ้าเรื่อง เทวทูตสูตร ดังนี้
 
“ดูกรสงฆ์ทังปวง อันว่าเรือนทั้ง 2 มีประตูแลเห็นตลอดกันทั้งข้างโน้นและข้างนี้ บุรุษมีจักษุอันบริสุทธิ์ ยืนอยู่ในท่ามกลางก็แลเห็นชนทั้งหลายอันจะเล็งแลเข้าออกในเรือนทั้ง 2 นั้น มีฉันใด พระตถาคตก็มีทิพจักษุญาณพิจารณ์เห็นสัตว์อันจุติและปฏิสนธิไปในสุคติและทุคติ ประจักษ์แจ้งมีอุปไมยดังนั้น
 
ดูกรณ์สงฆ์ สัตว์อันประพฤติซึ่งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต อย่างนั้น  ครั้นทำลายเบญจขันธ์แล้วก็ไปเกิดในสุคติภพ คือมนุษย์และสวรรค์ สัตว์อันทำกรรมอันลามกหยาบช้ามีกายทุจริตเป็นต้น ก็ไปเกิดในทุคติ คือ นรกและเปรต เป็นอาทิ
 
ที่บาปกึ่งคุณกึ่งนั้นก็ไปบังเกิดในยมโลก นายนิรยบาลก็คร่าไปสู่สำนักพญายมราชๆ ก็ถามว่า ดูกรบุรุษ เมื่อท่านยังอยู่ในมนุษยโลกนั้น ท่านได้เห็นเทวทูต 5 ประการฤาหามิได้ เทวทูตเหล่านั้นได้แก่
 
  • ทารกที่เพิ่งเกิด
  • คนชรา
  • คนป่วย
  • นักโทษที่ถูกโบยตี
  • คนตาย
ดังกล่าวนี้มาแล้วนี้ เมื่อท่านได้เห็นแล้วและมีความสังเวชหรือไม่อย่างไร หากอกุศลกรรมทำให้ท่านต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิแล้ว พญายมราชก็ระลึกถึงการกุศลที่บุรุษผู้นั้นได้กระทำไว้ในชาติก่อน หากบุรุษผู้นั้นมิอาจระลึกได้ ด้วยอกุศลกรรมเข้าครอบงำในสันดาน และพญายมราชถามเทวทูต 5 ประการนี้ ใช่จะถามแต่บุรุษจำพวกเดียวก็หาไม่ สตรีอันไปเกิดในยมโลกนั้นก็ถามดุจกัน บางทีเมื่อพญายมราชถามเทวทูต 5 ประการนั้นกุศลดลใจสตรีซึ่งจะถึงแก่สุคติ คิดถึงซึ่งธรรมสังเวชขึ้นได้ ก็กราบทูลแก่พญายมราชว่าเทวทูต 5 ประการคิดสิ่งนั้นๆ ดุจกล่าวมาแล้วนั้น ข้าพระองค์ได้เห็นแล้วก็มีจิตสังเวช อย่างนี้ พญายมราชก็สั่งสัตว์ผู้นั้นให้ไปบังเกิดในสุคติภพ บางทีเมื่อขณะถามเทวทูต 5 ประการ สัตว์ผู้นั้นมิได้เห็นธรรมสังเวช และพญายมราชบอกการกุศลอันสัตว์ผู้นั้นได้กระทำไว้ดังนั้นๆ สัตว์ผู้นั้นระลึกได้ก็ไปบังเกิดในสุคติภพก็มี อนึ่งเมื่อพญายมราชถามเทวทูต 5 ประการแก่สัตว์อันเป็นบาปนั้น สัตว์นั้นก็มิได้เห็นธรรมสังเวช แล้วพญายมราชบอกการกุศลอันสัตว์ผู้นั้นได้กระทำแต่ชาติก่อน สัตว์ผู้นั้นก็มิอาจจะได้ด้วยอกุศลกรรมให้ผล พญายมราชก็ดุษฎีภาวนิ่งอยู่ นายนิรยบาลก็จับสัตว์ผู้นั้นขว้างลงในนรก กระทำกรรมกรณ์ (กรรมกรณ์ = อาญา) ต่างๆ ตามอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้นั้น”
 
 
ขุมนรก
“นรก” ในคัมภีร์พระไตรปิฎก มีทั้งหมด 8 ขุม ได้แก่ สัญชีวนรก กาลสูตรนรก สังฆาฏนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนรก มหาตาปนรก และมหาอเวจีนรก 
 
มหานรก 8 ขุมนั้น มีสัณฐานกว้างและยาวได้ 7 โยชน์ดุจกัน มีฝาแลผนังแลพื้นก็แล้วไปด้วยเหล็กมีประตูทั้ง 4 ทิศ มีพญายมราชเป็นใหญ่อยู่ทิศละองค์ พญายมราชนั้นจะมีแต่องค์เดียวหามิได้ มหานรกทั้ง 8 ขุมนั้นมีพญายมราชอยู่ขุมละ 4 พระองค์ สิริเป็นพญายมราชถึง 32 พระองค์ มีนิรยคุตอำมาตย์สำหรับถือบัญชีอยู่องค์ละคนๆ และพญายมราชนั้นก็นับเป็นเวมานิกเปรตจำพวกหนึ่ง เหตุที่บางครั้งก็ได้เสวยทิพสมบัติเป็นเทวดาอยู่ในวิมานแก้ววิมานทอง บางคราวก็ต้องไปเที่ยวตรวจตราว่ากล่าวสัตว์นรก กิจแห่งพญายมราชอันจะต้องเที่ยวไปเอาใจใส่ด้วยพระองค์เองนั้นมีกำหนดแต่ในยมโลกนรก อันเป็นบริวารแห่งมหานรกชั้นนอก
 
เมื่อได้ชื่อว่านรกนั้นย่อมมีแต่ความทุกข์ จารึกเรื่องนิรยกถากล่าวถึงนรก 8 ขุม  ไว้ดังนี้
 
“ทีงนี้จะว่าด้วยกำกรณ์ในมหานรกทัง 8 ขุมก่อน คือสัญชีวะนรกนั้น ด้วยอรรถว่า มีลมเยนพัดสัตว์ที่ตายให้เปนขึ้นได้เสวยทุขเวทนาต่อไป ที่ได้ชื่อว่ากาลสูตร์นรกนั้น ด้วยอรรถว่ามีสายบันทัดดีดกายสัตว์ให้แตกออก ที่ได้ชื่อว่าโรรุวนั้น ด้วยอรรถว่าอึงไปด้วยเสียงร้อง ที่ได้ชื่อว่ามหาโรรุวนั้น ด้วยอรรถว่าอึงไปด้วยเสียงร้องครางยิ่งกว่านั้น ที่ได้ชื่อว่าตาปนรกนั้น ด้วยอรรถว่าเปลวเพลิงอันยิ่งนัก ที่ได้ชื่อว่ามหาตาปนรกนั้น ด้วยอรรถว่าเพลิงร้อนยิ่งกว่าตาปนรก ที่ได้ชื่อว่ามหาอเวจีนรกนั้น ด้วยอรรถว่าเปลวเพลิงรุ่งเรืองอยู่หาระวางมิได้”
 
เข้าใจโดยสังเขปว่า
 
  1. สัญชีวนรก สัตว์นรกในขุมนี้จะไม่มีวันตาย เมื่อถูกลงโทษรับบาดเจ็บหรืออาจถึงตาย แต่จะไม่ตายเพราะจะมีลมเย็นพัดสัตว์ที่ตายให้ฟื้นขึ้นได้เสวยทุกขเวทนาต่อไป
  2. กาลสูตรนรกสัตว์นรกในขุมนี้จะถูกตีเส้นบนตัวด้วยเส้นเหล็กเผาไฟเหมือนสายบรรทัด ผ่าหรือดีดกายสัตว์ให้แตกออก
  3. สังฆาฏนรกในส่วนแรกนี้จารึกไม่ได้กล่าวถึง แต่จะมีกล่าวถึงในส่วนที่เป็นรายละเอียดของนรกขุมต่างๆ
  4. โรรุวนรกนรกขุมนี้จะเต็มไปด้วยเสียงร้องของสัตว์นรกที่เจ็บปวดทรมาน
  5. มหาโรรุวนรกนรกขุมนี้จะเต็มไปด้วยเสียงร้องของสัตว์นรกที่เจ็บปวดทรมานยิ่งกว่าโรรุวนรก
  6. ตาปนรกนรกขุมนี้มีไฟลุกท่วม
  7. มหาตาปนรกนรกขุมนี้มีไฟลุกท่วมยิ่งกว่าตาปนรก
  8. มหาอเวจีนรกนรกขุมนี้มีไฟลุกท่วมร้อนแรงไม่มีวันดับ
 

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่