กำเนิดนาฬิกา เรือนเวลาบนข้อมือเริ่มต้นจากไหน

ในสมัยโบราณมนุษย์ยังไม่มีนาฬิกาใช้  การดำเนินชีวิตขึ้นอยู่กับธรรมชาติ  ดวงอาทิตย์จึงเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่มนุษย์รู้จัก  นักประวัติศาสตร์ชื่อ Herodotus ได้บันทึกไว้ว่าประมาณ  3,500  ปีก่อน  มนุษย์รู้จักใช้นาฬิกาแดด  ซึ่งนับว่าเป็นนาฬิกาเรือนแรกของโลก  โดยสามารถอ่านเวลาได้จากเงาที่ตกทอดลงบนขีดเครื่องหมาย
 
 
ต่อมาชาวกรีกโบราณรู้จักพัฒนานาฬิกาน้ำที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เรียกว่า clepsydra   เพราะนาฬิกานี้ทำงานโดยอาศัยหลักที่ว่า “ภาชนะดินเผาที่มีน้ำบรรจุเต็มเวลาถูกเจาะที่ก้นน้ำจะไหลออกจากภาชนะทีละน้อย ๆ เหมือนการขโมยน้ำ” ดังนั้นชาวกรีกโบราณจึงได้กำหนดระยะเวลาที่น้ำไหลออกจนหมดภาชนะว่า  1 clepsydra (สุทัศน์  ยกส้าน.  2544 : 159)  แต่นาฬิกาน้ำนี้ต้องมีการเติมน้ำใหม่ทุกครั้งที่หมดเวลา  1 clepsydra และในฤดูหนาวน้ำจะแข็งตัวทำให้ไม่สามารถใช้นาฬิกาได้
 
ใน  ค.ศ.1364 Giovanni de Dondi เป็นบุคคลแรกที่สร้างนาฬิกาแบบมีเข็มบอกเวลาเป็นชั่วโมง  แต่มีขนาดใหญ่  เนื่องจากมีลูกศรบอกตำแหน่งของดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ทั้ง  5  ดวงด้วย  Peter Henlein ช่างทำกุญแจชาวเยอรมันเป็นผู้สร้างนาฬิกาเรือนแรกของโลก  ในช่วงต้นปี  ค.ศ.1500  แต่นาฬิกายังคงมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากไม่ต่างจากเดิมเท่าใดนัก
 
ต่อมาในปี  ค.ศ.1500  Peter Henlein ได้สร้างนาฬิกาที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา  คือ  หนักเพียง  1  กิโลกรัมเท่านั้นและในปี ค.ศ.1641  กาลิเลโอได้สังเกตการแกว่งของตะเกียง  เขาพบว่าการแกว่งครบรอบของตะเกียงแต่ละครั้งใช้เวลาเท่ากันเสมอ  ไม่ว่าจะแกว่งมากหรือน้อยเพียงใด  กาลิเลโอจึงมอบหมายให้บุตรชายชื่อ Vincenzio Galilei สร้างนาฬิกาโดยใช้การแกว่งของลูกตุ้มเป็นเครื่องควบคุมเวลา  เรียกว่า  นาฬิกาเพนดูลัม (Pendulum)  ซึ่งสามารถเดินได้อย่างเที่ยงตรงพอควร
 
ในปี  ค.ศ.1657 Christian Huygens นักวิทยาศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ประดิษฐ์นาฬิกาโดยใช้หลักของ Pendulum ควบคุมการทำงานโดยมีส่วนประกอบคือ  ล้อ  ฟันเฟืองและลวดสปริง นาฬิกาแบบนี้สามารถวัดเวลาได้เที่ยงตรงมากกว่านาฬิกาเพนดูลัม
 
ในปี  ค.ศ.1929 Warren Morrison ได้ประดิษฐ์นาฬิกาควอตซ์ขึ้นเฉพาะที่เป็นนาฬิกาข้อมือ  นาฬิกาประเภทนี้เที่ยงตรงมากและในปี  ค.ศ.1980  เป็นช่วงเวลาที่เริ่มนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้  มีการประดิษฐ์นาฬิกาโดยใช้ชิป (chip)  เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมในกลไกของนาฬิกา  ซึ่งนอกจากจะบอกเวลาแล้วยังสามารถเก็บข้อมูลที่จำเป็นและสามารถใช้เป็นเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย  หลังจากนั้นเทคโนโลยีในด้านการประดิษฐ์นาฬิกาได้ก้าวหน้าเรื่อยมา จนกระทั่งทุกวันนี้เรามีนาฬิกาคอมพิวเตอร์ใช้กันแล้ว
 
 
 
สำหรับประเทศไทย  คนไทยประดิษฐ์เครื่องบอกเวลาใช้เองเมื่อร้อยปีมาแล้ว  คือ  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยทรงมีวลีที่กำชับรับสั่งกับข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด  มีความว่า “สยามจะอยู่รอด  รักษาความเป็นไทไม่เป็นขี้ข้าฝรั่ง  จะต้องทำให้คนไทยเชื่อมั่นและต่างชาติเชื่อว่าคนไทยนี้เก่ง” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เจ้ากรมอุทกศาสตร์ท่านแรกของสยามชื่อ Captain Loftus จัดทำนาฬิกาแดดไว้ให้เป็นเครื่องกำหนดหมายบอกเวลา  แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ประดิษฐานไว้ที่ลานหน้าพระอุโบสถวัดนิเวศน์ธรรมประวัติบางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนทุกวันนี้

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่