ดอกมะลิ เป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง มีความหมายว่า เป็นดอกไม้ที่ได้รับความปราถนาดี เป็นที่รักและคิดถึงของคนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นสื่อแทนของความกตัญญูอีกด้วย ยิ่งใกล้ถึงวันแม่แบบนี้ ดอกมะลิ ก็จะกลายเป็นตัวแทนส่งมอบความรักจากลูกสู่แม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมนำดอกมะลิ หรือพวงมาลัยที่ทำจากดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่ในวันนี้ ฉะนั้นแล้ว เราจึงควรจะมาเรียนรู้ความหมายและความสำคัญของดอกมะลิให้กันให้มากขึ้นดีกว่า ว่าดอกไม้ชนิดนี้มีความสำคัญอย่างไร และมีที่มาจากไหน วันแม่แห่งชาติ (12 สิงหาคม) เชื่อว่าลูกๆหลายคนเตรียมซื้อดอกมะลิไปไหว้คุณแม่กันแล้ว แต่เคยส่งสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมดอกมะลิจึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ ถ้าใครสงสัยวันนี้มีคำตอบมาบอก
ดอกมะลิ ถือว่าเป็นไม้มงคลที่มีมาตั้งแต่โบราณ ว่ากันว่าดอกไม้ชนิดนี้เป็นดอกไม้ประจำองค์พระนารายณ์ นอกจากนั้นผู้คนส่วนใหญ่ยังนิยมนำเอาดอกมะลิมาใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาพระ ด้วยกลิ่นหอมเย็นและสีขาวบริสุทธิ์ของดอกมะลิ เชื่อกันว่าบ้านใดที่ปลูกต้นมะลิเอาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน จะช่วยเสริมให้คนในบ้านได้รับความปราถนาดี เป็นที่รัก และเป็นที่คิดถึงของคนทั่วไป อีกทั้งยังทำให้คนในบ้านมีจิตใจที่บริสุทธิ์ รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ดอกมะลิ นั้นเป็นดอกไม้ประจำวันแม่แห่งชาติด้วย
ในด้านคุณสมบัติของดอกมะลิที่เห็นเด่นชัดนั้น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียและแถบอาหรับ เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นเล็กกลม สูงประมาณ 2 เมตร มีผิวเปลือลำต้นเป็นสีขาวแตกสะเก็ดเล็กน้อย แตกกิ่งก้านสาขารอบต้น ส่วนกิ่งอ่อนๆ มีขนสั้น มีสีขาว ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันมีลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ขอบใบเรียบเป็นมันออกสีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว หรือออกเป็นช่อตามซอกใบ ปลายกิ่งมีสีขาวสะอาด มีกลิ่นหอมเย็น แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นหลอด มีสีเขียวอมเหลืองอ่อนๆ ปลายแยกเป็น 8 - 10 เส้น กลีบดอกมีสีขาวประมาณ 6 - 10 กลีบเรียงเป็นวงกลม หรืออาจซ้อนกันเป็นชั้นแตกต่างกันตามสายพันธุ์ของมะลิที่มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน
"คำว่าแม่" นั้นมีความหมายในใจลูกทุกคน จนยากที่จะเปรียบเทียบได้กับทุกสรรพสิ่งในโลก ดังคำขวัญที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานไว้ว่า "แม่เป็นพระอรหันต์ของลูก คนที่เที่ยววิ่งหาพระเพื่อกราบไหว้พระอรหันต์ อย่าลืมว่ามีพระอรหันต์อยู่กับตัวแล้ว ควรปฏิบัติต่อแม่อย่าให้บกพร่องได้"
ประเทศไทยเริ่มจัดงานวันแม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2486 ณ สวนอัมพร โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดงาน ต่อมามีการเปลี่ยนกำหนดงานวันแม่หลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่าควรกำหนดวันแม่ให้แน่นอนโดยให้ถือว่า วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม เป็น วันแม่แห่งชาติ และ กำหนดให้ "ดอกมะลิ" เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
"ดอกมะลิ" จึงกลายสัญลักษณ์หนึ่งที่มาพร้อมกับเทศกาล "วันแม่" ซึ่งเป็นวันที่บรรดาลูกให้ความสำคัญกับผู้ที่ให้กำเนิดเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลที่ให้ ดอกมะลิ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ ก็เนื่องจาก คนไทยถือเป็นดอกไม้มงคล นิยมเอาดอกมะลิมาร้อยเป็นมาลัยเพื่อบูชาพระ และดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลายมะลิ นอกจากนี้ มะลิดอกแห้งก็ยังสามารถใช้ปรุงเครื่องยาหอมใช้บำรุงหัวใจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ดอกมะลิ ยังสามารถนำไปร้อยเป็นพวงมาลัยซึ่งถือเป็นวัฒนะรรมเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยได้ โดยใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความรัก ความผูกพันธ์ระหว่างแม่ - ลูกอีกด้วย แต่หากเป็นดอกมะลิซ้อนก็สามารถนำไปแจกันประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามได้ นอกจากนั้นยังว่ากันว่า หากนำน้ำที่ลอยดอกมะลิมาล้างหน้าจะช่วยทำให้ตาสว่าง หรือหากนำไปผสมอาหารก็จะช่วยให้มีกลิ่นหอม อีกทั้ง มะลิ ก็ยังเป็นส่วนผสมสำหรับแต่งกลิ่น หรือใช้อบกลิ่นขนมให้หอม ใช้อบผ้า และแต่งกลิ่นใบชา แนะนำว่าไม่ควรรับประทานชาดอกมะลิติดต่อกันเป็นประจำ เพราะจะส่งผลให้ความจำไม่ค่อยดี รวมถึงดอกมะลิยังสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ใช้ปรุงแต่งเครื่องประทินผิว และเครื่องสำอางค์ คุณสมบัติที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิยังมีฤทธิ์ไล่หมัดได้อีกด้วย
|