ฝนเทียมหรือฝนหลวง (Artificial rain) คือหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายในการศึกษาค้นคว้าและทำการวิจัยทางด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน โดยทรงมีพระประสงค์จะแก้ปัญหาภัยแล้งในประเทศไทยที่เกิดจากปริมาณของฝนตามธรรมชาติที่ตกน้อยและทิ้งช่วงจนเกินไป ทำให้ส่งผลกระทบไปถึงพืชผลทางการเกษตรและการดำรงชีวิตของชาวบ้านที่ไม่มี “น้ำ” ไปหล่อเลี้ยงให้ความอุดมสมบูรณ์
ในปีพ.ศ. 2498 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในแถบภาคอีสาน และทรงเห็นความทุกข์ยากจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้พสกนิกรของพระองค์ได้รับความเดือดร้อน นับจากนั้นพระองค์จึงเร่งศึกษาค้นคว้าหลักการของการเกิดฝนด้วยพระองค์เอง และได้ทำการทดลองจริงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วิธีการคือหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้วไปในยอดเมฆที่สูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ทำให้กลุ่มเมฆรวมตัวกันจนหนาแน่นก่อนจะก่อยอดขึ้นสูงเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และเกิดเป็นฝนที่ตกลงมายังพื้นดินในที่สุด หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น การทำฝนเทียมก็คือการเลียนแบบธรรมชาติโดยใช้สารเคมีช่วยกระตุ้นการรวมตัวกันของละอองเมฆเพื่อให้มีขนาดโตขึ้นกลายเป็นเมฆฝน เป็นกรรมวิธีดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝนนั่นเอง
ขั้นตอนการทำฝนเทียม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงอธิบายหลักการในการทำฝนเทียมไว้ 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ
1. ก่อกวน
ในขั้นตอนแรกนี้จะเป็นการก่อกวนสมดุลของมวลอากาศเพื่อดัดแปลงสภาพอากาศให้เมฆเติบโตได้ดีขึ้น โดยวิธีการคือโปรยสารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อน ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคาร์ไบด์ และแคลเซียมออกไซด์ เพื่อให้มวลอากาศบริเวณที่โปรยสารเคมีมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดการลอยตัวขึ้นมาเป็นเมฆ หรืออีกวิธีคือโปรยโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่ดูดซับความชื้น โดยสารเคมีชนิดนี้จะไปดูดซับความชื้นในอากาศ จากนั้นจึงกลั่นตัวเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ และรวมกันเป็นก้อนเมฆ การปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ควรเป็นช่วงเช้าหรือไม่เกิน 10.00 น. และในอากาศก็จะต้องมีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 60%
2. เลี้ยงให้อ้วน
สำหรับขั้นเลี้ยงให้อ้วนนั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นขั้นเร่งการก่อตัวของเมฆให้มีขนาดใหญ่และหนาแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วจะทำในช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. ในขั้นตอนนี้จะเป็นการโปรยสารแคลเซียมคลอไรด์เข้าไปในกลุ่มเมฆที่ระดับความสูงประมาณ 8,000 ฟุต โดยสารแคลเซียมคลอไรด์เป็นสารสูตรร้อน เมื่อดูดซับความชื้นในอากาศแล้วจะทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดเป็นความร้อนที่จะไปเร่งมวลอากาศในก้อนเมฆให้ไหลเวียน ในขณะเดียวกันก็จะเร่งให้เมฆก่อยอดสูงขึ้นด้วย
3. โจมตี
เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายที่เรียกว่าขั้นโจมตี ในขั้นตอนนี้ก้อนเมฆจะมีขนาดใหญ่และมีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น หากยอดเมฆสูงไม่เกิน 15,000 ฟุต ก็จะใช้เครื่องบินสองลำในการโจมตีพร้อมกัน โดยลำแรกจะโปรยผงเกลือแป้งที่ระดับความสูงประมาณ 10,000 ฟุตเพื่อดูดซับความชื้น ซึ่งจะทำให้เม็ดน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นและหล่นลงมารวมกับเม็ดน้ำที่อยู่บริเวณฐานเมฆ และเครื่องบินลำที่สองจะบินทำมุมเยื้องกับลำแรก 45 องศา และจะโปรยผงยูเรียบริเวณฐานเมฆเพื่อให้อุณหภูมิเย็นลง ทำให้เม็ดน้ำหล่นลงมาเป็นฝน
เทคโนโลยีและเทคนิคการทำฝนเทียมได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยพระปรีชาสามารถและความรอบรู้ในการศึกษาและวิจัย ทำให้การทำฝนเทียมเป็นที่ยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการสร้างฝนเทียมเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
|