เช็ก 7 อาการของไข้เลือดออกที่ควรระวัง

สิ่งที่เราต้องพึงระมัดระวังอย่างมากในช่วงนี้ไม่ใช่แค่การระบาดของโควิด 19 เพียงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหนึ่งภัยเงียบอย่าง “ไข้เลือดออก” โรคที่มากับหน้าฝนในทุกๆ ปีและมียุงลายเป็นพาหะ ที่เราต้องพึงระวังด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการเบื้องต้นของโรคไข้เลือดออกนั้น อาจจะไม่ค่อยต่างจากโควิด 19 และ ไข้หวัดใหญ่สักเท่าไร แต่ถ้าได้ลองเจาะลึกไปถึงอาการอื่นๆ ที่มีร่วมกับอาการไข้ขึ้นสูง เช่น อาการทางผิวหนัง ที่มีจุดแดงๆ เล็กๆ คล้ายผื่นขึ้น กระจายตัวไปทั่วตามร่างกาย ให้คุณสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อนได้เลยว่านั่นคือ “ผื่นแดงไข้เลือดออก” ค่ะ ไม่ใช่โรคโควิด 19 หรือ ไข้หวัดใหญ่อย่างแน่นอน 

 

 ไข้เลือดออกจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

  • ระยะแรก คือ ระยะ 3–7 วันที่มีไข้สูงถึง 38 – 40 องศาเซลเซียส ถึงแม้ผู้ป่วยจะรับประทานยาลดไข้ แต่ไข้ก็ยังคงสูงอยู่ดี ซึ่งอาการร่วมคือ ปวดเมื่อยตามตัว ตามกระดูก ข้อมือ ข้อเท้าต่างๆ  หน้าแดง ตาแดง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร รวมไปถึงอาเจียน และปวดหัวร่วมด้วย แต่จะไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอ ซึ่งระยะนี้ของไข้เลือดออก ผื่นแดงจะยังไม่ขึ้นค่ะ     
  • ระยะสอง คือ ระยะที่เฝ้าระวังหรือระยะช็อค จะเป็นหลังจากมีไข้สูงมาแล้ว 3-7 วัน ซึ่งต่อจากนี้ไข้จะเริ่มลดลงอย่างฉับผัน มีผื่นแดงไข้เลือดออกขึ้น มีเลือดออกตาม อุจจาระ อ้วก และเลือดกำเดา ผู้ป่วยจะกลับมีอาการทรุดหนัก และเสี่ยงต่อการช็อก ระยะนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอันตรายถึงชีวิตได้
  •  ระยะสาม คือ ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาถูกต้องและทันเวลา ซึ่งอาการจะเริ่มดีขึ้น เริ่มรับประทานอาหารและลุกนั่งได้ปกติ
ยุงลาย พาหะโรคไข้เลือดออก
  • ตัวเล็ก สีดำ
  • มีลายสีขาวที่ขา ท้อง และลำตัว
  • ชอบอยู่ตามมุมมืดในบ้าน
  • ออกหากินตอนกลางวัน

แนวทางป้องกันยุงลาย

1. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
แน่นอนว่าผลของฝนที่ตกลงมาแค่บางวัน หรือบางช่วง ทำให้มีน้ำท่วมขังในหลาย ๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นในภาชนะต่าง ๆ บ่อ หรือหลุมตามพื้น ดังนั้นเมื่อฝนเริ่มตกคุณควร
 
ควรเทน้ำที่ขังอยู่ในภาชนะต่าง ๆ รอบบ้านลงพื้นดิน และคว่ำภาชนะไว้
ปิดฝาอ่าง หรือโอ่งที่รองน้ำไว้ใช้
หากมีหลุมที่น้ำสามารถท่วมขังได้ ให้กลบทำลาย
จุดที่จำเป็นต้องหล่อน้ำไว้ ให้นำทรายอะเบทเทใส่ลงไปในน้ำ และควรเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ
สำหรับอ่างบัว หรือพืชน้ำต่าง ๆ ควรเลี้ยงปลาหางนกยูง ปลากัดไว้ช่วยกำจัดลูกน้ำ
2. ฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุง
การฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงจะช่วยลดปริมาณยุงได้ 3-7 วัน และเป็นการตัดวงจรการระบาดในที่ ๆ มีผู้ป่วยไข้เลือดออก เพราะหากพื้นที่นั้นมีคนเป็นไข้เลือดออก แปลว่ายุงในบริเวณนั้นมีเชื้ออยู่
 
3. ใส่เสื้อผ้ามิดชิด
หากบริเวณที่พักอาศัย หรือที่ทำงานมียุง การแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวจะช่วยให้ยุงกัดเราได้ยากขึ้น
 
4. นอนในมุ้ง
อาจฟังดูโบราณ แต่หากพื้นที่บ้านมียุงมาก การนอนในมุ้งก็ช่วยให้อุ่นใจว่ายุงจะไม่มากัด หรือสร้างความรำคาญตอนนอนได้
 
5. ใช้สเปรย์ หรือโลชั่นกันยุง
ฉีดสเปรย์ หรือทาโลชั่นกันยุงลงบนผิวเพื่อช่วยไล่ยุง ไม่ให้มากัด
 
6. ปรับปรุงบ้าน
สำรวจดูตามรอยต่อประตูหน้าต่างว่ามีรูที่ยุงสามารถบินเข้ามาได้หรือไม่ หากมีควรซ่อมแซมให้เรียบร้อย และควรติดตั้งมุ้งลวดที่ประตูหน้าต่างเพื่อกันยุง และแมลงต่างๆ
 
7. ปลูกพืชช่วยไล่ยุง
หากพอมีพื้นที่ พืชสวนครัวหลายชนิดก็ช่วยไล่ยุงได้เช่นกัน เพียงแค่คอยขยี้ใบให้กลิ่นจากใบออกมา ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้หอม โหระพา สะระแหน่ ใบแมงลัก นอกจากนี้ยังมีเจอราเนียม ลาเวนเดอร์ และโรสแมรี่

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่