เช็คด่วน พ่อแม่ประเภทไหน ที่อาจทำให้ลูกกลายเป็น “เด็กเก็บกด”

1. พ่อแม่ขยันบ่น บ่นเก่งทุกเรื่อง
 
การบ่นของคุณพ่อคุณแม่ อาจมีสาเหตุมาจากความหวังดี อยากให้ลูกมีระเบียบ มีความรับผิดชอบ แต่ถ้ามันมากเกินไปก็คงจะไม่เหมาะสม เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้ลูก ถ้าเอาแต่บ่นลูกทุกวันจนหูชา ทำอันนั้นก็ผิด เล่นอันนี้ก็ห้าม
 
แน่นอนว่า ลูกคงไม่อยากจะทำ หรือเล่นอะไรอีกเลยค่ะ และที่เด็กเลือกที่จะไม่พูดก็เพราะไม่อยากให้พ่อแม่ ที่เขารักต้องผิดหวังในตัวเขานั่นเอง จากปัญหาเล็กๆ จึงอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต แค่เพียงเพราะการบ่น และการใช้คำพูดด้านลบของคุณพ่อคุณแม่ที่มากเกินไป
 
ทางแก้ไขง่ายมากๆ เลย เพียงแค่ลองหันมาปรับทัศนคติ และปรับเปลี่ยนการใช้คำพูดต่างๆ ให้เป็นในแง่บวก ควบคุมอารมณ์ และลองพยายามทำความเข้าใจในตัวลูกว่าทำไมลูกถึงทำ หรือเล่นแบบนี้กันดีกว่าค่ะ รับรองว่า ลูกต้องเข้าใจถึงความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ขึ้นมาแน่นอน
 
 
 
2. พ่อแม่ เสพติด หน้าจอ ใช้โทรศัพท์เป็นพี่เลี้ยงลูก
 
พ่อแม่ประเภทนี้ เรามักเจอกันบ่อยๆ เพราะในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างสามารถทำได้ง่ายเพียงแค่กดโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้เมื่อมีเวลาว่างพ่อแม่ก็มักจะ เสพติด หน้าจอกันจนลืมเลี้ยงและเล่นลูกกันเป็นประจำจึงทำให้หลายๆ ครั้ง ลูกโดนเมิน โดนเพิกเฉยใส่ ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอยู่คนเดียว
 
ทั้งๆ ที่พ่อแม่ก็นั่งอยู่ข้างๆ แต่ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์อะไรกันเลยบางครอบครัวถึงขั้นเป็นคนยื่นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตให้เป็นพี่เลี้ยงของลูกด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดมากๆ เพราะวัยเด็กถือเป็นวัยที่ต้องเล่น ฝึกพูดคุย สร้างบุคลิกต่างๆ ให้ดีในชีวิตจริง ไม่ใช่การมัวแต่มานั่งดูหน้าจอไปวันๆ นอกจากจะทำให้เด็กเสียเสียตาแล้ว ทักษะการเข้าสังคม หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างยังติดลบอีกด้วย
 
 
3. พ่อแม่ไม่ยอมปรับความคิดรับสิ่งใหม่ๆ
 
พ่อแม่ลักษณะนี้ มักจะหัวโบราณ ไม่ยอมรับชุดความคิดใหม่ๆ เข้ามา ถึงแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ ก็ยังคงคิดแต่เรื่องอดีต หรือสิ่งที่ตัวเองถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เท่านั้นห้ามนอกกรอบ เคร่งเครียด เนื่องจากกลัวผิดพลาด กลัวลูก ล้มเหลว
 
จึงเลือกที่จะป้องกันก่อนที่ลูกจะได้ลงมือทำด้วยซ้ำจึงทำให้เด็กต้องใช้ชีวิตยากขึ้น เพราะพ่อแม่ไม่ยอมปรับชุดความคิดมาจูนให้ตรงกับความคิดของเด็กในสมัยนี้เลยแม้น้อย พอทำนอกกรอบนิดหน่อย ก็โดนว่า จนทำให้เด็กรู้สึกเก็บกด และไม่อยากอยู่กับพ่อแม่
 
จนความสัมพันธ์นั้นกลายเป็นช่องว่าง ภายในครอบครัวโดยไม่รู้ตัวที่สำคัญ คือต้องค่อยๆ ปรับชุดความคิดของตัวเองให้เข้าใจความคิดของลูกมากขึ้น อย่ายึดติดกับความคิดแบบเดิมๆ มากเกินไป
 
4. พ่อแม่ จอมบงการ ชอบบังคับลูก
 
4 คำพูดที่บอกได้ว่าคุณเป็นพ่อแม่ประเภทนี้ ก็คือ อย่า! ห้าม! หยุด! ต้อง! ที่คุณมักเผลอพูดกับลูกบ่อยๆ เมื่อลูกทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ เมื่อลูกได้ฟังจึงเหมือนเป็นการสั่ง มากกว่าการบอกแบบธรรมดา แถมยังชอบบังคับให้ทำในสิ่งที่ลูกไม่ได้ชอบจริงๆ อีก
 
การเลี้ยงลูกในลักษณะนี้ จึงมักทำให้ลูกเกิดความ เครียด และกดดันในสิ่งต่างๆ จากสิ่งที่พ่อแม่ยื่นมาให้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เต็มใจรับมันก็ตาม ทางแก้ คือ การลองปล่อยให้ลูกได้คิดเอง ทำเอง และเป็นอิสระบ้าง
 
อย่าเข้มงวดทุกระเบียบนิ้ว สนับสนุนให้ลูกทำในสิ่งที่ชอบมากกว่าการไปบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบจะเป็นผลดีกว่านะคะคุณพ่อคุณแม่
 
5. พ่อแม่ช่างว่า ช่างติ
 
ทำอะไรก็ติ อันนี้ไม่ดี อันนู้นก็ไม่ใช่ ยิ่งเป็นเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ยิ่งทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจตัวเอง กลายเป็นปมใหญ่ในจิตใจของเด็กไปได้เลยนะคะ คุณพ่อคุณแม่บางคนลูกทำไม่ถูกใจ ดันไปใส่อารมณ์ลูกอีก
 
นอกจากลูกจะเสียใจมากๆ แล้ว ยังทำให้ลูกไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง ต้องรอคำสั่งจากพ่อแม่ก่อนทำ เพราะกลัวทำแล้วถูกว่าจนเส้นใยของความสัมพันธ์ครอบครัวนั้นได้บางลงไปแบบไม่ต้องสงสัย
 
6. พ่อแม่ชอบคิดแทนลูก
 
“ลูกต้องชอบแบบนี้แน่เลย ลูกต้องกินแบบนี้แหละ” การคิดแทนลูก หรือชอบตัดสินใจแทนลูก โดยที่ไม่เคยถามความพึงพอใจของลูกเลย เป็นสิ่งที่น่าอึดอัดใจไม่แพ้กันเพราะนั่นหมายถึง การที่คุณไม่เคยรับฟังความต้องการของลูกจริงๆ ไม่ได้ยิน ปิดกั้นการรับฟังเสียงของลูก
 
เพราะถือว่าตัวเองได้เลือก สิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกแล้ว เด็กจึงรู้สึกว่าต้องทำตามที่พ่อแม่บอกให้ทำเท่านั้น เมื่อผ่านไปนานๆ จึงกลายเป็นความรู้สึกสะสม และกลายเป็นอาการเก็บกดขึ้นมาได้นั่นเอง
 
7. พ่อแม่เปรียบเทียบกับคนอื่นเก่ง
 
“ลูกบ้านนู้น เขาสอบได้ที่ 1 แหละ ดีจังเลยเนอะ” ถ้าไม่ใส่ใจคุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่ามันก็แค่ประโยคบอกเล่าธรรมดาๆ แต่สำหรับลูกคนที่ได้ยิน และต้องสัมผัสแล้ว มันคือการตอกย้ำอีกรูปแบบหนึ่ง และเมื่อลูกโดนเปรียบเทียบก็จะทำให้ลูกรู้สึกผิดหวังในตัวเอง น้อยใจ
 
และคิดว่าตัวเองไม่มีค่า เพราะทำแบบที่พ่อแม่อยากให้ทำไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นต้นตอของอาการเก็บกดและเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า ตามมานั่นเอง เพราะฉะนั้น อย่าเผลอหลุดพูดเปรียบเทียบกับลูกแบบนี้เป็นอันขาด
 
8. พ่อแม่นักคาดหวัง
 
เมื่อพ่อแม่เกิดความคาดหวังขึ้นนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ลูกต้องแบกหิน “ความคาดหวัง” ที่พ่อแม่โยนให้ไว้บนหลังอยู่เสมอ หรือต้องพยายามปีนป่ายภูเขา ที่พ่อแม่สร้างขึ้น และถ้าลูกเกิดทำตามคาดคาดหวังของพ่อแม่ไม่ได้ ลูกก็จะถูกตำหนิไปตามคาด ทำให้ลูกไม่มีความมั่นใจ น้อยใจพ่อแม่
 
หรืออาจรู้สึกต่อต้านพ่อแม่ จนไม่เชื่อฟังคำพูดขึ้นมาได้ทันที ทางที่ดีคือ อย่าคาดหวัง เราก็จะไม่ผิดหวังนั่นเองค่ะ คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย? คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่เป็นพ่อแม่เหมือน 8 ประเภทด้านบน แม่อยากจะบอกว่า ยังไม่สายเกินแก้นะคะ

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่