เรื่องควรรู้ เมื่อคิดเกษียณเร็ว

แนวคิด “เกษียณเร็ว” หรือ F.I.R.E (Financial Independence, Retire Early) คือ การมีอิสรภาพทางการเงินจนสามารถหยุดทำงานตั้งแต่อายุไม่มาก เช่น ตั้งแต่อายุ 30 – 40 ปี โดยไม่ต้องรอเกษียณตามเวลาปกติ (อายุ 55 – 60 ปี) ซึ่งเป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่ปรารถนาความเป็นอิสระ ต้องการเวลาไปทำสิ่งที่อยากทำตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวที่ยังมีพละกำลังมากมาย และไม่อยากทำงานไปจนแก่เฒ่า แล้วค่อยได้ใช้ชีวิตอิสระในวัยเกษียณ
 
หากหมดความกังวลเรื่องเงินตั้งแต่อายุน้อย ๆ ก็สามารถมีเวลาไปใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการ แต่การเกษียณเร็วไปก็อาจมีผลเสียตามมาได้เหมือนกัน ดังนั้น มาสำรวจความเป็นไปได้ถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องการจะเกษียณเร็ว และเมื่อรู้ถึงปัญหาก็สามารถนำไปใช้ในการวางแผนให้รัดกุมและรอบคอบยิ่งขึ้น ก่อนตัดสินใจเกษียณเร็ว 
 
 
1. ระยะเวลาที่ใช้เตรียมเกษียณไม่มาก ส่งผลให้การเตรียมเกษียณยากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งวางแผนเกษียณเร็วขึ้นเท่าใด ยิ่งมีเวลาเก็บเงินหรือเตรียมทรัพย์สินเพื่อการเกษียณลดลงตามไปด้วย ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้สำเร็จได้มี 2 ทางเลือก
เก็บเงินต่อปีให้มากขึ้น ซึ่งอาจกระทบกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เช่น ลดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งอาจทำให้สูญเสียความสมดุลของชีวิต และอาจกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น หากเลือกแนวทางนี้ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนสูงขึ้น และหากมีความเสี่ยงมากจนเกินไปหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เหมาะสมกับสไตล์ของตัวเอง อาจสูญเสียเงินต้นได้ 
 
2. เตรียมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณไม่เพียงพอ สำหรับปัจจัยที่ทำให้การคำนวณค่าใช้จ่ายคลาดเคลื่อนมีได้หลายทาง เช่น ไม่ได้คำนวณเงินเฟ้อหลังเกษียณ รูปแบบการใช้ชีวิตหลังเกษียณมีความแตกต่างจากก่อนเกษียณ จึงไม่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายบางประเภท เช่น วางแผนการเงินด้านการรักษาสุขภาพน้อยเกินไป แต่เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อายุขัยที่อยู่จริงยาวนานกว่าที่คาดไว้ ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ เมื่อเกษียณไปแล้วอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่าที่ประเมินไว้ และหากเจ็บป่วยและต้องใช้เงินรักษาในจำนวนที่สูงก็อาจส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินโดยรวม
 
3. ความไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้ ปัจจุบันโลกของการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินหลังเกษียณ เช่น มีความมั่นใจว่าเงินเก็บเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณอยู่ในระดับเพียงพอ ที่สำคัญก็จัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเหมาะสมกับตัวเองแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ สงคราม หรือการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่าง ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนหรือผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะเป็นแหล่งรายได้ในระยะยาวก็ลดน้อยถอยลง
 
4. สภาวะจิตใจหลังเกษียณเร็ว เมื่อตัดสินใจเกษียณจากงานประจำตั้งแต่อายุน้อย ๆ ถือเป็นการสูญเสียสถานภาพและบทบาททางสังคม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจิตใจ เพราะเมื่อเกษียณไปแล้วจะทำให้ชีวิตเงียบเหงา โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการเข้าสังคม การมีเพื่อนร่วมงานได้พูดคุย แต่เมื่อถึงวันเกษียณเร็วจะทำให้ชีวิตขาดสีสันพอสมควร
 
จากทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว พบว่าเมื่อวางแผนเกษียณเร็วก็มีโอกาสเผชิญปัญหาหลายอย่างเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากมีการวางแผนเกษียณเร็วได้อย่างรัดกุม สามารถจัดการกับประเด็นความเสี่ยงและปัญหาต่าง ๆ ก็จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้

บทความอื่นๆ

สินค้าใหม่