แนวทางการใช้สิทธิ
เมื่อลงทะเบียนแล้ว สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ หากการรักษาพยาบาลเกินศักยภาพของหน่วยบริการ แพทย์จะพิจารณาส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าตามภาวะความจำเป็นของโรค และสามารถขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี โดยแจ้งได้ที่สถานที่ลงทะเบียนและเริ่มใช้บริการที่แห่งใหม่ได้ทันที รวมทั้ง สปสช. ได้เปิดช่องทางการลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ หรือลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง/ย้ายสิทธิการรักษาพยาบาล ได้ด้วยตนเองทางออนไลน์ไว้ 2 ช่องทาง ได้แก่ Application สปสช. หรือ Line สปสช. (LINE ID: @nhso)
หากพักอาศัยในพื้นที่ (ปริมณฑล หรือ ต่างจังหวัด) สามารถติดต่อลงทะเบียนย้ายสิทธิได้ด้วยตนเอง ได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่จริง หรือที่คุ้นเคยในชื่อสถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง รพ.รัฐใกล้บ้าน (ในพื้นที่อำเภอที่ผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่จริง) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สปสช.เขต 1 – 12
หากพักในกรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ สปสช.เขต 13 กทม. หรือจุดลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ กทม. ได้แก่ สำนักงานเขต 19 เขตของ กทม. โดยเมื่อลงทะเบียนแจ้งสิทธิเรียบร้อยแล้ว จะเกิดสิทธิใหม่ทันที
เจ็บป่วยทั่วไป ที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ เพียงยื่นบัตรประชาชน
เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรืออาการรุนแรงขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว (ตามนิยามทางการแพทย์) ให้เข้ารับบริการกับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เข้าร่วม ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแนะนำข้อมูลหรือประสานหาเตียงรองรับ
อุบัติเหตุ แบ่งเป็น 2 กรณี หากประสบอุบัติเหตุทั่วไป ให้ปฏิบัติเหมือนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กรณีประสบอุบัติเหตุจากรถ ต้องใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหมดก่อน ส่วนเกินจึงจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
เมื่อผู้มีสิทธิบัตรทองต้องเดินทาง เช่น กลับไปเยี่ยมญาติต่างจังหวัด แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ถูกสุนัขกัด ถือเป็นอุบัติเหตุก็ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ในการทำแผลและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ แต่ให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดก่อน และสามารถรับบริการได้ครบตามกำหนดของการรับวัคซีน เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเดินทางกลับไปรับวัคซีนเข็มถัดไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้
(ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml)
นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ
สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤติและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยมี 6 กลุ่มอาการที่เข้าข่าย ดังนี้
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังเวลา 72 ชั่วโมง ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถย้ายเข้าระบบหน่วยบริการได้ แต่หากปฏิเสธไม่ขอย้าย ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อไปเอง (หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) 02 872 1699 ตลอด 24 ชั่วโมง)
บริการที่คุ้มครองค่าใช้จ่าย
1. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
2. การตรวจวินิจฉัยโรค
3. การตรวจและรับฝากครรภ์
4. การบำบัดและการบริการทางการแพทย์
5. ยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์
6. การทำคลอด
7. การกินอยู่ในหน่วยบริการ
8. การบริบาลทารกแรกเกิด
9. บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย
10. บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ
11. การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ
12. บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
13. บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติม
บริการที่ไม่อยู่ในความคุ้มครอง
การรักษาภาวะมีบุตรยากหรือการผสมเทียม การแปลงเพศ การตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การรักษาที่อยู่ระหว่างค้นคว้าทดลอง การบาดเจ็บจากการประสบภัยจากรถซึ่งอยู่ในความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด (ยกเว้นบางกรณี) โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน (ยกเว้นบางกรณี) การปลูกถ่ายอวัยวะ (ยกเว้นบางกรณี)
หากผู้ใช้สิทธิได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการซึ่งไม่ใช่เป็นพยาธิสภาพของโรคหรือเหตุแทรกซ้อนของโรค มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยผู้ได้รับความเสียหายหรือทายาทสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือได้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย ที่หน่วยบริการในระบบหรือโทรสายด่วน สปสช. 1330
เพราะรายได้ที่ไม่แน่นอน เงินออมไม่เพียงพอ และไม่มีสวัสดิการคุ้มครองในหลายกรณีของแรงงานนอกระบบและกลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง การใช้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจากบัตรทอง ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะกรณีโรคเรื้อรังและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่แม้เกิดเพียงครั้งเดียว แต่อาจกระทบกับเงินเก็บทั้งหมดที่มี หรือต้องกู้หนี้ยืมสิน ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลปัจจุบัน หากมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ควรพิจารณาเปลี่ยนสถานพยาบาลเพื่อความสะดวกในการเดินทางและเตรียมหลักฐานสำคัญ คือ บัตรประชาชน ให้พร้อมเผื่อกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ |